นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังการหารือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประทศไทย และ กรมสรรพากร ถึงเรื่องต่ออายุมาตรการภาษีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(SET) และ ตลาดเอ็ม เอ ไอ ว่าภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้จะสามารถรูปแบบการต่ออายุมาตรการภาษีว่าจะต่ออายุออกไปหรือไม่ อย่างไร และ นานเท่าไร ทั้งนี้เพื่อให้ทันการปิดงบการเงินไตรมาส 1/53
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงเรื่องมาตรการภาษีด้านอื่น ๆ ด้วย โดยในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ประเมินว่าภาษีการควบรวมกิจการจะสรุปได้ภายในไตรมาส 4/53
"ตอนนี้เรื่องทุกอย่างก็เดินเป็นไปตามแผนพัฒนาตลาดทุน และผมก็อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่วันนี้ที่มาพูดคุยเรื่องภาษีตลาดและภาษี เอ็มเอไอ เพราะว่ามันหมดอายุแล้ว และได้รู้ถึงอุปสรรค แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องมองไปที่แผนตลาดทุนมากกว่า เพราะเป็นภาพใหญ่ แต่อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นได้ว่าจะรู้กรอบว่าจะต่อหรือไม่ แล้วจะต่อในลักษณะอย่างไรภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้" รมช.คลัง กล่าว
นายประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังรับทราบนโยบายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพยายามเพิ่มสินค้า ซึ่งการมีมาตรการภาษีถือเป็นการช่วยบริษัทจดทะเบียน ในช่วงที่ตลาดหุ้นไม่ดี ซึ่งเป็นการแก้ไขในกรอบสั้นๆ เรื่องภาษีต้องพิจารณาต้องพิจารณาให้รอบคอบ
ด้านนายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร กล่าววา กรมสรรพากรพร้อมจะให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ในการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันมาตลอดในเรื่องประเด็นภาษีว่าจะเดินแนวทางอย่างไร ซึ่งทราบว่าการต่อมาตรการภาษีของบริษัทจดทะเบียนก็เพื่อต้องการเพิ่มจำนวนสินค้าในตลาดให้มากขึ้น และพบว่าตลาดหลักทรัพย์มีมาตรการตรวจสอบที่ดีหลายขั้นตอนกว่าที่บริษัทจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ จะนำผลการเพิ่มสินค้าของตลาดในปี 52 ทีมีจำนวน 17 บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด SET และ ตลาด เอ็ม เอ ไอ เพื่อไปพิจารณาถึงผลดีผลเสียในเรื่องของมาตรการภาษี
ส่วนนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ในวันนี้ตลาดหลักทรัพย์ได้หารือถึงการต่ออายุมาตรการภาษีของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงภาวะการดำเนินงานในปี 52 และกลยุทธ์ในปี 53 ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดฯได้มีการหารือเป็นระยะๆ และได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากกรมสรรพากรมาโดยตลอด
และแผนงานโรดโชว์ในปี 53 จะดำเนินการต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น รูปแบบ Thailand Focus ซึ่งจะเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนเข้ามาร่วมมากขึ้นหรือกว่า 100 บริษัท