กทช.รับประมูล 3G หมดสิทธิเกิดใน Q1/53 แน่,รายชื่อว่าที่ กทช.ถูกตีกลับ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 19, 2010 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)เปิดเผยว่า การประมูลใบอนุญาตให้บริการระบบ 3G ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถเปิดประมูลได้เมื่อใด เนื่องจากยังมีข้อติดขัดอีกหลายประการ แต่ที่แน่นอนแล้วก็คือคงไม่สามารถเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 1/53

ล่าสุด สำนักราชเลขาธิการส่งกลับรายชื่อว่าที่คณะกรรมการ กทช.ชุดใหม่ 4 คนกลับมายังคณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้ง หลังจากมีผู้ร้องเรียนร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมของ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เพราะถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตรวจสอบกรณีทุจริตในอำนาจหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรักษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที

แหล่งข่าว คาดว่า ทางคณะกรรมการสรรหาคงต้องชี้แจงว่าการตรวจสอบ พ.อ.นที ยังอยู่ในชั้นของการพิจารณา ยังไม่มีข้อสรุปว่าทุจริตต่อหน้าที่ แต่ฝ่าย กทช.ยังไม่ได้รับทราบเรื่องนี้

"เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครต้องเป็นผู้ชี้แจง คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. หรือ กทช.แต่ที่แน่ ๆ รายชื่อถูกตีกลับ คงต้องใช้เวลาเพิ่มเพื่อสรรหา กทช.ทดแทนที่ครบวาระออกไป และทาง กทช.ยังไม่รู้ต้องทำอย่างไร คงต้องรอออกไปไม่มีกำหนด" แหล่งข่าว กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัคร กทช.ทั้ง 4 ราย ต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดสรรคลื่นความถี่ในระบบ 3G เนื่องจากขณะนี้คณะกรรมการกทช. ยังไม่ครบจำนวน นอกจากนั้น ยังต้องรอการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงอำนาจหน้าที่ของ กทช.ที่ยังไม่ครบองค์ประชุมจะสามารถดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ได้หรือไม่ ตามที่ทางสำนักงาน กทช.ร้องขอไป

แหล่งข่าว คาดว่า ภายในเดือน ม.ค.นี้จะเข้าไปชี้แจงและให้ข้อมูลต่อกฤษฎีกา ตามที่ ครม.เศรษฐกิจ ต้องการให้การประมูลคลื่นความถี่ 3G เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งกระบวนการประมูล 3G ยังต้องรอช้าไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีการตีความจากกฤษฎีกาออกมาก่อน ทั้งนี้หลังกฤษฎีกาตีความต้องมีกรอบเวลา อีก 30-60 วันในการนำเสนอแบบร่างการประมูลต่อผู้ที่สนใจ ดังนั้น การที่จะชัดเจนในไตรมาส1/53 คงเป็นไม่ได้

ทั้งนี้ แม้รอประเด็นด้านกฎหมายแต่กทช. ยังคงดำเนินการด้าน 3G ต่อเนื่อง เพื่อแสดงถึงผลได้ผลเสีย ระหว่างการประมูลคลื่น 3G ภายใต้สัมปทานใหม่กับการใช้สัญญาร่วมการงานเดิม ส่วนประเด็นด้านกฎหมาย ขณะนี้ กทช.กำลังรอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงความแน่ชัดของอำนาจหน้าที่ของ กทช.ในแง่ของกฎหมาย ตลอดจนรัฐธรรมนูญใหม่ก็ดี หรือ พ.ร.บ.ร่วมการงานฯ ก็ดี มีผลกระทบต่อการทำงานของ กทช.หรือไม่ กทช.มีอำนาจในการจัดสรรความถี่ได้หรือไม่

แหล่งข่าว กล่าวว่า ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ กทช.ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ในระหว่างนี้ กทช.รอผลการพิจารณาและประกอบกับวุฒิสภาได้สรรหา กทช.ใหม่จำนวน 4 ท่านแล้ว กทช.จึงชะลอการตัดสินใจที่เป็นเรื่องนโยบายออกไปก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ