SGP วางเป้าสู่ Energy Provider ระดับภูมิภาค เล็งก้าวต่อเกาหลี-ไต้หวัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 21, 2010 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์(SGP)เดินหน้าขยายธุรกิจครอบคลุมเอเชีย วางจีนเป็นฐานใหญ่ จ้อง"เกาหลี-ไต้หวัน"เป็นก้าวต่อไป มุ่งเป้าหมายหลักเติบโตเป็น Energy Provider อันดับต้นๆ ในย่าน Southeast Asia จากจุดเริ่มต้นที่จีนและเวียดนาม

บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศพุ่ง 20% เหตุขายแก๊ส LPG ได้ราคาดีกว่าในประเทศมาก ชูแบรนด์"ยูนิคแก๊ส-สยามแก๊ส"รุกตลาดค้าปลีกในจีนและเวียดนาม ขณะที่การเจรจาซื้อกิจการในมาเลเซียสะดุดหลังเจ้าของธุรกิจเดิมเปลี่ยนใจ รอจังหวะหารายใหม่ ส่วนแผนลงทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียยังเดินทางหาช่องทางอยู่ แต่ข้อเสนอยังไม่ถูกใจ "เราอยากเข้าไปที่เวียดนาม และขยายไปที่เขมรโดยใช้ฐานเวียดนาม ส่วนจีนก็จะใช้เป็นฐานในการบุกเวียดนาม เป็นทอดๆกันไป ฐานที่จีนจะเป็นต้นน้ำมากขึ้น ไต้หวัน เกาหลี จะเป็น target ที่จะต่อยอดขึ้นไป แต่ ณ ปัจจุบบันยังไม่มองข้ามขั้นนั้น คงจะสร้างแต่ละฐานให้มั่นคงขึ้นมาเรื่อยๆก่อน"นายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ SGP ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"

เป้าหมายหลักของบริษัท คือ ต้องการขยายต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากการขยายตัวของตลาด LPG ในประเทศไทยมีไม่มากแล้ว โดยมีผู้ค้ากว่า 100 ราย ดังนั้น จึงต้องหันไปขยายตลาดในต่างประเทศที่ยังมีอัตราเติบโตและมีโอกาสทำธุรกิจสูง

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องราคาก็มีส่วน โดยขณะนี้ราคาตลาดโลกอยู่ที่ 810 เหรียญ/ตัน แต่ในประเทศใช้ราคาคงที่ 330 เหรียญ/ตัน แม้ว่าทั้งประเทศมียอดขายก๊าซ LPG จำนวน 4 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูง แต่ถูกตรึงราคาไว้จากภาครัฐ โดยเฉพาะก๊าซหุงต้ม ถูกควบคุมราคาโดยกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบัน สัดส่วนตามการใช้ก๊าซ LPG โดยภาคครัวเรือน มีสัดส่วน 60% ภาคขนส่ง 20% และ ภาคอุตสาหกรรม 20%

นายศุภชัย ยังกล่าวถึงการเจรจาเข้าไปขยายธุรกิจในมาเลเซีย ขณะนี้หยุดการเจรจาการลงทุนในบริษัทท้องถิ่นไปแล้ว เพราะเจ้าของเปลี่ยนใจไม่ขายกิจการ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังมีเจตนารมณ์ที่จขยายกิจการในเมาเลเซียด้วยการเข้าซื้อกิจการหรืออาจจะลงทุนเอง เพราะตลาดแก๊ส LPG มีโอกาสเติบโตและได้ราคาสูงกว่าขายในประเทศ ขณะนี้คงจะรอจังหวะที่ดีในการเจรจากับรายอื่น

*ปี 53 กำไร-รายได้โต 15%

กรรมการผู้จัดการ LPG กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปี 53 กำไรและรายได้เติบโต 15% จากปี 52 ที่คาดว่าจะทำได้เกินเป้าเติบโต 15% เนื่องจากคาดว่าปริมาณความต้องการใช้ก๊าซเติบโตกว่า 10% ประกอบกับ คาดว่ารายได้จากการลงทุนในต่างประเทศจะรับรู้เข้ามาในปีนี้ทั้งจีนและเวียดนาม

"ปีนี้คิดว่าเติบโต 15% ยอดขายโตจาก 1 ล้านตัน เป็น 1.2 ล้านตัน ส่วนรายได้รวมเป็น 2 หมื่นกว่าล้านบาท...ภาพรวมปีนี้ดีขึ้น เริ่มมีเสถียรภาพ คิดว่าความต้องการก๊าซ LPG จะเติบโต 10 กว่า% ต่างจากปีที่แล้วราคา LPG ผันผวนเหมือนน้ำมัน"นายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ SGP กล่าว

นายศุภชัย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจในเวียดนามและจีน โดยการเจรจาลงทุนในเวียดนามคาดว่าจะสรุปในเดือน ก.พ.นี้ และจะเริ่มรับรู้รายได้ทันที ส่วนในจีนคาดว่าดีลจบและรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/53 ทำให้โครงสร้างรายได้บริษัทจะมีสัดส่วนจากต่างประเทศ 20% ในปีนี้จากที่เคยมีไม่ถึง 10%

การลงทุนในเวียดนามคาดว่าจะทำรายได้ปีละ ประมาณ 2 พันล้านบาท/ปี โดยจะเน้นตลาดขายปลีกใช้ชื่อแบรนด์"ยูนิคแก๊ส"ซึ่งพบว่าตลาดเวียดนามยังมีความต้องการสูง และมีประชากรอยู่มากถึง 80 ล้านคน มองว่าจะสามารถใช้เป็นฐานขยายการจำหน่ายก๊าซไปยังกัมพูชาได้

ขณะที่ในจีนที่บริษัทเข้าไปดำเนินการในมณฑลกวางตุ้ง ถือว่าเป็นมลฑลที่ใหญ่มาก คาดว่าความต้องการก๊าซเติบโตปีละ 5% หรือมีปริมาณราว 10 ล้านตัน โดยจะขายแบบค้าปลีกใช้แบรนด์"สยามแก๊ส"และค้าส่งด้วย ประมาณการว่าแต่ละปีจะมีรายได้จากจีนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท หรือมียอดขายประมาณ 4.8 แสนตัน/ปี

อนึ่ง เมื่อ 30 ก.ย.52 มติบอร์ด SGP ให้ Siamgas HK Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าซื้อหุ้นสามัญของ Chevron Ocean Gas & Energy Ltd. ในสัดส่วน 99% เป็นเงิน 51 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ยอดขายจากต่างประเทศแม้จะมีปริมาณขายน้อยกว่า แต่จะได้ราคาก๊าซที่อิงกับราคาตลาดโลก โดยปัจจุบันอยู่ที่ 810 เหรียญ/ตัน จึงทำให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 20% ขณะที่ราคาขายในประเทศยังคงอยู่ที่ระดับ 330 เหรียญ/ตันจากนโยบายตรึงราคาของภาครัฐ และยอมรับว่าอัตรากำไรขั้นต้นในประเทศคงที่ในระดับ 10% เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยยอดปริมาณขายมากจึงจะทำให้กำไรเติบโต

"ปีนี้โครงสร้างรายได้จากต่างประเทศ ถ้าให้ผมประมาณการสักประมาณ 20% ถึงแม้ว่ายอดขายจะน้อย แต่ราคาในต่างประเทศตอนนี้สูงเท่าตัวของราคาในประเทศ โดยรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากจีน และ เวียดนาม" นายศุภชับ กล่าว

ส่วนแผนลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ยังไม่ได้ยกเลิกไป เพียงแต่ขณะนี้ข้อเสนอที่ได้รับยังไม่ถูกใจ ยืนยันว่ายังมองการขยายธุรกิจเหมืองถ่านหิน เพราะมีสถานที่ใกล้ไทย และถ่านหินก็ยังเป็นพลังงานถูกกว่าน้ำมัน ปัจจุบันบริษัทนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียเข้ามาจำหน่ายปีละ 9.6 หมื่นตัน เพื่อปูทางการทำตลาดไว้เผื่อในอนาคต

นายศุภชัย กล่าวว่า สำหรับตลาดในประเทศ บริษัทจะขยายสาขาสถานีบริการ โดยตั้งเป้าปีนี้จะเพิ่มอีก 15 สาขา เงินลงทุนสาขาละ 30 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 450 ล้านบาท โดยจะขยายทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จากปัจจุบันที่มี 26-27 แห่ง

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายโรงบรรจุก๊าซกระจายไปให้ทั่วถึงภายในประเทศ โดยปีนี้ใช้งบ 20 ล้านบาท ใช้ขยายที่ จ.นครปฐม ซึ่งเริ่มดำเนินการ ในเดือนก.พ. 53 โดยปัจจุบันมีอยู่ 26 แห่ง เพื่อสร้างความมั่นคงในกิจการ และลดความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ และหากบริษัทยังหาทำเลที่ดีได้บริษัทก็จะขยายเพิ่มเติม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ