ศุนย์วิจัยกสิกรฯคาดปี 53 ตลาดบริการโทรคมฯโต 3.2-5.3%, 3G อุปสรรคเพียบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 26, 2010 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดบริการโทรคมนาคมปี 53 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.55-2.60 แสนล้านบาท พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 3.2-5.3% จากปี 52 ที่น่าจะหดตัวประมาณ 2.1% หรือมีมูลค่าไม่เกิน 2.47 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจโทรคมนาคมน่าจะเป็นธุรกิจหนึ่งที่เติบโตได้ดีในปี 53 จากการขยายตัวของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต โดยมีปัจจัยบวกทั้งการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มราคาโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ที่ถูกลง รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสารมากขึ้น

"มูลค่าตลาดบริการโทรคมนาคมน่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปี 53 จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดว่า ปริมาณการใช้งาน (MOU) น่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากบริการข้ามแดนอัตโนมัติและการโทรในประเทศ ที่น่าจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 51" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า การใช้บริการเสริมน่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาสมาร์ทโฟนที่ถูกลง คาดว่ารายได้จากบริการเสริมน่าจะมีบทบาทต่อรายได้ของผู้ให้บริการมากขึ้น จนมีสัดส่วนประมาณ 17-19% ของรายได้ทั้งหมด และคาดว่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีมูลค่าประมาณ 1.61-1.65 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.0-4.5% จากปี 52 ที่คาดว่าหดตัวลง 2% หรือมีมูลค่าไม่เกิน 1.58 แสนล้านบาท

แม้การเปิดประมูล 3G ความถี่ 2.1 GHz ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้บริการเสริม จะยังไม่มีกำหนดการที่แน่ชัด แต่การชูจุดขายด้านเทคโนโลยีใหม่ น่าจะเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดที่สำคัญของผู้ให้บริการในปีนี้ โดยปัจจุบันผู้ให้บริการบางรายก็สามารถให้บริการ 3G ความถี่เดิมได้แล้ว

สำหรับตลาดบริการอินเทอร์เน็ตในปี 53 น่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราสองหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (broadband)ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเพียง 2-2.5 ล้านราย หรือไม่ถึง 4% ของจำนวนประชากร ซึ่งแสดงถึงโอกาสการขยายตลาดได้อีกมาก

อย่างไรก็ดี ในปี 53 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคมมากมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งแผนการลงทุน ฐานะทางการเงิน และภาวะการแข่งขันของผู้ให้บริการ ได้แก่ 1) การเปิดประมูล 3G ความถี่ 2.1 GHz ซึ่งขณะนี้ยังรอการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงอำนาจในการจัดสรรความถี่ของ กทช.

หาก กทช. ไม่มีอำนาจในการจัดสรรแล้ว การเปิดประมูล 3G คงต้องชะลอออกไปจนกว่าการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะแล้วเสร็จ ซึ่งน่าจะส่งผลให้การจัดสรรใบอนุญาต WiMAX ก็น่าจะล่าช้าออกไปเช่นกัน

แต่หากตีความว่า กทช. มีอำนาจในการจัดสรรความถี่แล้ว อาจมีประเด็นอื่นที่ยังต้องพิจารณา เช่น คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลที่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติ และราคาเริ่มต้นประมูลที่เหมาะสม

2) แนวคิดการแปรสัญญาสัมปทาน เนื่องจากความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทานที่ต้องขาดส่วนแบ่งรายได้ที่ถือว่าเป็นรายได้หลัก หากผู้ให้บริการเอกชนที่เป็นคู่สัญญาย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทานไปยังระบบ 3G ใหม่ที่มีใบอนุญาตเอง ซึ่งการแปรสัญญาสัมปทานอาจทำให้เอกชนต้องเสียผลประโยชน์บางอย่างเพื่อชดเชยกับระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ เช่น การให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาถือหุ้นบางส่วนในบริษัทใหม่ที่เอกชนจะตั้งขึ้นเพื่อให้บริการ 3G ความถี่ใหม่

3) การตรวจสอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีต ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มองว่า การแก้ไขสัญญาอาจไม่ผ่านกระบวนการตามพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมงานและดำเนินกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งหากผลการพิจารณาร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะรัฐมนตรี เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้ให้บริการเอกชนต้องถูกเรียกเก็บผลประโยชน์คืนตามความเสียหาย ซึ่งทาง สคร. ประเมินมูลค่าเบื้องต้นถึงกว่า 2 แสนล้านบาท

4) การขยายลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งสองรายที่ดำเนินกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม อาจต้องผ่านการพิจารณาและอนุมัติของหลายฝ่าย ทั้งคณะกรรมการบริหารของบริษัทเอง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะกระทรวงต้นสังกัด และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งอาจมีผลต่อความคล่องตัวในการวางแผนการลงทุน การออกกลยุทธ์ และศักยภาพในการแข่งขัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ