(เพิ่มเติม) ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TOP ที่ AA-(tha)

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 26, 2010 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะยาวของบมจ.ไทยออยล์ (TOP) ที่ 'AA-(tha)' และคงอันดับความน่าเชื่อภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1+(tha)' ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ TOP ที่ 'AA-(tha)' และได้ปรับแนวโน้มเครดิตระยะยาวเป็น "เชิงลบ" จากเดิมที่ "มีเสถียรภาพ"

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนให้เห็นถึงอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดของบริษัทที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปี 2552 นอกจากนี้สภาวะอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่อาจทำให้การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทในช่วง 2 ปีข้างหน้าอาจจะล่าช้าออกไปอีก ในขณะที่อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัท ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่าอัตราส่วนที่ควรจะเป็นสำหรับอันดับเครดิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หนี้สินสุทธิที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปี 2552 ของบริษัทนั้น เป็นผลมาจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่นที่ลดลงและการจ่ายเงินปันผลที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าปัจจัยเหล่านี้จะถูกลดทอนลงบางส่วนจากความแข็งแกร่งของธุรกิจพาราไซลีนและการลดลงอย่างมากของค่าใช้จ่ายในการลงทุน โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2552 บริษัทมีหนี้สินสุทธิอยู่ 43.1 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงาน ซึ่งคำนวณตัวเลขทั้งปีจากตัวเลข 9 เดือนแรกของปี (annualised FFO-adjusted net leverage) และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (annualised adjusted net debt to EBITDAR) อยู่ที่ระดับ 1.8 เท่า และ 2.0 เท่า ตามลำดับ เทียบกับอัตราส่วนดังกล่าวในช่วงปี 2548 — 2550 ที่อยู่ที่ระดับ 1 เท่า

ธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากกำลังการผลิตใหม่จำนวนมากที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการยังคงอ่อนแออยู่ ถึงแม้ฟิทช์คาดการณ์ว่าความต้องการจะค่อยๆฟื้นตัวในปี 2553 ก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะยังคงกดดันค่าการกลั่น ส่วนต่างระหว่างราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับต้นทุนวัตถุดิบ และอัตราการใช้กำลังการผลิตในตลอดช่วงปี 2553

นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงการที่บริษัทดำเนินกิจการโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งมีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปชนิดที่มีมูลค่าสูงได้ในสัดส่วนที่สูงโดยมีต้นทุนการผลิตต่ำ อันดับเครดิตยังได้พิจารณารวมถึงความสำคัญของบริษัทที่มีต่อ บมจ. ปตท. หรือ ปตท. และลักษณะการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงระหว่างกัน การที่บริษัทมีการผลิตต่อเนื่องไปยังการผลิตพาราไซลีนและน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานยังเป็นการเพิ่มระดับการผลิตแบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์น้ำมันและลดความผันผวนของรายได้จากค่าการกลั่นน้ำมัน นอกจากนี้การเข้าไปดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทยังช่วยลดความผันผวนของรายได้จากธุรกิจการกลั่นน้ำมันได้บางส่วนเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะมีสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่ก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ