นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่งเน็ตเวิร์ค (CEN) เปิดเผยว่า ในปี 53 คาดว่าจะเห็นผลการดำเนินงานของบริษัทกลับมามีกำไร หลังจากปี 52 ที่คาดว่าจะขาดทุน แม้ผลประกอบการครึ่งปีหลังจะมีกำไรแต่ช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ต้นทุนวัตถุดิบ จึงทำให้ทั้งปี 52 บริษัทยังขาดทุน
ทั้งนี้จากสถานการณ์โดยรวม ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นทั้งภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ฟื้นตัว การกระตุ้นการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็ง และการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงคาดว่ารายได้ในปี 53 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาทหรือเติบโตประมาณ 15% จากปี 52 ที่คาดทำได้ 1,600 ล้าน บาท เนื่องจากผลประกอบการที่ดีขึ้นของบริษัทลูกทั้งบริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด บมจ. เอื้อวิทยา และบริษัท เอ็นเนซอล จำกัด ที่มีทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/52 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
โดยเบื้องต้นคาดว่ารายได้รวมปี 52 แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากระยองไวร์ อินดัสตรีส์ ประมาณ 800 ล้านบาท บริษัท เอ็นเนซอล จำกัด ประมาณ 300-400 ล้านบาท และ บมจ. เอื้อวิทยา จำกัด 800 ล้านบาท ที่ปีนี้บริษัทจะโดดเด่นมากจากการขยายธุรกิจการ ผลิตเสาโครงเหล็กจะเป็นตัวผลักดันรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น จากการที่มีมาร์จิ้นในอัตราที่สูง 20-30% เมื่อเทียบกับงานเสาสายส่งที่มีมาร์จิ้น 15%
นอกจากนี้งานผลิตเสาโครงเหล็กนั้นคาดว่าจะเห็นการร่วมมือกับบริษัท TRICOM STRUCTURES ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจ ผลิตโครงสร้างเหล็กรายใหญ่ในประเทศแอฟริกาใต้ในการทำธุรกิจด้วยกันในช่วง 1-2 เดือนนี้ โดยในช่วงแรกจะเป็นลักษณะการจ้างผลิตแล้ว ทาง TRICOM จะเป็นผู้ขายและติดตั้ง และในอนาคตก็จะมีการเจรจาในลักษณะพันธมิตรร่วมลงทุนซึ่งคาดว่าจะเห็นภายในปีนี้ส่วนรูปแบบคงจะมีการหารืออีกครั้ง
ทั้งนี้งานในประเทศของบมจ.เอื้อวิทยา ยังเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่ ปีนี้ คาดว่าจะเข้าประมูลประมาณ 3,000 - 4,000 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับงานประมาณ 40%-50% งานเสาโทรคมนาคม ของ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ที่มีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 200-300 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับงานดังกล่าวในสัดส่วน 40-50 ล้านบาท อีกทั้งปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 400-500 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการขยายเสาโครงเหล็กคาดว่าจะทำให้มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 15% เสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอยู่ที่ 70% เสาโทรคมนาคม ในสัดส่วนที่เหลือ
นายวุฒิชัย กล่าวถึงแผนการนำบมจ.เอื้อวิทยา เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้หรืออย่าง เร็วในช่วงปลายไตรมาส 2/53 เพราะเตรียมยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. คงใช้เวลาไม่นาน โดยปัจจุบันบริษัท มีทุนจดทะเบียนที่ 450 ล้านบาท เป็นทุนชำระแล้ว 250 ล้านบาท ส่วนจำนวนหุ้นที่เตรียมระดมทุนนั้นยังไม่สามารถระบุ เพราะอยู่ระหว่างดำเนินงาน และหารือกับ บล. คันทรี่ กรุ๊ป (CGS) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)
"ตอนนี้สถานการณ์ผมดีขึ้นค่อนข้างมากไม่เหมือนปีก่อนที่โดนเรื่องต้นทุน ทำให้เราบริหารงานค่อนข้างลำบาก แต่ก็ดีทำให้เราปรับและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ราคาเหล็กที่เคยเป็นปัญหาในปีก่อนตอนนี้ก็ไม่แล้วและก็พร้อมรองรับสถานการณ์แนวโน้มราคาและปริมาณความต้องการที่ปี 53 เพิ่มขึ้นแน่นอนเพราะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นทำให้คนกลับมาลงทุน และยังมีไทยเข้มแข็งหนุนอีก ตอนนี้ธุรกิจ ทุกอย่างของลูกก็เดินหน้าได้ดี " นายวุฒิชัย กล่าว
นายวุฒิชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนพอร์ตลงทุนของบริษัทขณะนี้มีความสนใจในการเข้าลงทุนบริษัทที่เกี่ยวโยงและเกื้อหนุนกันกับธุรกิจโดยตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษา 2-3 บริษัทซึ่งนอกตลาดหลักทรัพย์คาดว่าจะสรุปและเห็นการเข้าลงทุนได้ในช่วงไตรมาส 2-3/53 ซึ่งได้เตรียมเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทซึ่งนอกเหนือจากการลงทุนบริษัทในตลาด ที่มีผลตอบแทนในระดับที่พอใจ