PTTคาดโครงการมาบตาพุดใช้เวลา 8-10 เดือนทำตามม.67 วอนรัฐช่วยเร่งอนุมัติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 27, 2010 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มบมจ.ปตท.(PTT)คาดว่าโครงการลงทุนในมาบตาพุดของเครือปตท.จะใช้เวลา 8-10 เดือนดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ก็จะพยายามแสวงหาทางออกที่จะทำให้สามารถร่นระยะเวลาดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งเบื้องต้นจะเสนอขอให้ภาครัฐช่วยอนุมัติโครงการให้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในส่วนของโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ของ ปตท. ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ทันปีนี้หรือไม่

"ผมว่าคงอย่างน้อย ต้องใช้เวลา 8 -10 เดือน แต่จะถึง 14 เดือนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่แต่ละโครงการ เพราะเวลาทำ HIA ต้องดูว่าตรงไหนต้องเอามาศึกษาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมได้หมด เพราะฉะนั้น ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในทางเทคนิคถ้ามีต้องปรับปรุง EIA ด้วย แตถ้าออกมาแล้วไม่มีอะไรเหมือนเดิมก็ใช้ EIA ตัวเดิม" นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR)และกรรมการภาคเอกชนในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทางกลุ่ม ปตท.ได้ก็ให้แนวทางที่ต้องการให้รัฐช่วย คือ อยากให้ภาครัฐมีมาตรการอนุมัติได้โดยเร็ว หลังกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม(EIA) และการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เสร็จแล้ว ซึ่งต้องยื่นให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติ โดยขั้นตอนนี้ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการพิจารณาให้เร็วแม้ว่าจะข่วยร่นระยะเวลาได้ไม่มากนักก็ตาม

"ตอนนี้ก็พยายามหาทางออกว่าจะมีทางไหนที่จะทำให้ไปได้เร็วชึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังหารือร่วมกับภาครัฐอยู่...ถึงที่สุดแล้วเชื่อว่าจะมีทางออก"นายชายน้อย กล่าว

นายชายน้อย กล่าวว่า โครงการของกลุ่ม ปตท.ได้ดำเนินขั้นตอน HIA ไปมากแล้ว ทุกบริษัทก็เริ่มทำในขั้นตอนต่างๆ เมื่อปลายปีที่แล้วเช่นกัน โดยได้ทำตามแนวคิดเดิมที่รับปากไว้แต้ต้นว่าไม่ว่าโครงการไหนจะเกิดผลกระทบรุนแรงหรือไม่รุนแรง 76 โครงการนี้เอกชนจะทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ให้หมด จะได้สบายใจกับทุกฝ่าย

อนึ่ง การดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ 4 ขั้นตอนหลัก ประกอบด้วย การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EIA), การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชน (HIA) และ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย (ประชาพิจารณ์) นอกจากนี้ ยังต้องผ่านการพิจารณาขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่กำลังจัดตั้งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ