นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าหลังการประชุมร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับปัญหาการแข่งขันที่ไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นจากการที่ บล.บางแห่งนำรายได้จากลูกค้ารายย่อยที่ซื้อขายไม่ถึง 20 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบันยังมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์แบบขั้นบันไดมาชดเชยส่วนที่เป็นต้นทุนการให้บริการลูกค้ารายใหญ่หรือลูกค้าสถาบัน ทำให้มีการเสนออัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายจากลูกค้ารายใหญ่หรือลูกค้าสถาบันในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อ บล.ที่ทำธุรกิจเน้นเฉพาะลูกค้าสถาบันเป็นหลัก และมีข้อเสนอให้เร่งยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำทั้งหมดไม่ว่าลูกค้ารายใหญ่หรือรายเล็กเพื่อแก้ไขปัญหานี้
อย่างไรก็ดี ทางสมาคมแจ้งว่า จะมีการจัดตั้งชมรมบริษัทหลักทรัพย์ที่เน้นลูกค้าสถาบัน จึงขอเสนอที่จะนำเรื่องนี้เข้าหารือแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวก่อน
นอกจากนี้ ทั้ง ก.ล.ต. และสมาคมมีความเป็นห่วงว่า ในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันรุนแรงอาจส่งผลให้จำนวนและคุณภาพของบทวิเคราะห์ลดลง ที่ประชุมจึงได้หารือและเห็นพ้องว่า เนื่องจากบทวิเคราะห์เป็นข้อมูลที่สำคัญในการประกอบการให้คำแนะนำแก่ลูกค้า บล. จึงควรต้องจัดให้มีบทวิเคราะห์ของตนเองในหุ้นทุกตัวที่เจ้าหน้าที่การตลาดของ บล. แนะนำให้แก่ลูกค้า รวมทั้งหุ้นที่ลูกค้าส่งคำสั่งซื้อขายผ่าน บล. นั้นๆ เป็นหลัก ซึ่งสมาคมรับที่จะไปหารือกับสมาชิกและรายงานความคืบหน้าต่อไป
สำหรับหุ้นของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ก.ล.ต. จะหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้กองทุนพัฒนาตลาดทุนให้การสนับสนุนเงินทุนในการจัดทำบทวิเคราะห์ให้ครบถ้วนและมีความต่อเนื่อง
ส่วนแผนปฏิบัติการสู่ความเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนสมาคมได้ศึกษาถึงผลกระทบของแผนปฏิบัติการดังกล่าวที่จะนำไปสู่การทำธุรกิจแบบไร้พรมแดนในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจากการวิเคราะห์แล้วเห็นว่าจะเกิดผลดีต่อตลาดทุนไทยโดยจะมีสินค้าและผู้ลงทุน เข้ามามากขึ้น และจะช่วยผลักดันให้ตลาดทุนไทยต้องปรับปรุงประสิทธิภาพและมีมาตรฐานที่ดีขึ้น
ในลำดับต่อไป สมาคมจะทำการศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ ของตลาดทุนไทยกับตลาดของประเทศอื่นในอาเซียนเพื่อวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อจะนำมาวางแผนปรับปรุงศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดและกฎเกณฑ์ต่างๆ ต่อไป พร้อมทั้งจะจัดทำ roadmap สำหรับการปรับตัวของ บล. ให้ชัดเจน โดย ก.ล.ต. จะแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการของแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้สมาคมทราบเป็นระยะๆ
*ตีกรอบจรรยาบรรณโบรกฯ ชูเรื่องขาย IPO
นายธีระชัย กล่าวว่า ได้หารือการเตรียมการพร้อมของสมาคมเข้าสู่ SRO โดย ก.ล.ต. ได้ซักซ้อมความเข้าใจกับสมาคมว่า วัตถุประสงค์หลักของ SRO ควรเน้นทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจและการให้บริการของสมาชิก และกำกับดูแลสมาชิกและบุคลากรของสมาชิกตามมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนด แต่ต้องมิใช่การใช้ SRO เพื่อเป็นเครื่องมือรักษาประโยชน์ของสมาชิกหรือเพื่อสำหรับกีดกันการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ สมาคมจะต้องจัดทำแผนงานมาเสนอให้ ก.ล.ต. พิจารณาเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการ
ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า สมาคมมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองไปเป็นองค์กรกำกับดูแลตนเองตามหลักเกณฑ์ SRO ของ IOSCO โดยจะพยายามเตรียมความพร้อมทั้งในแง่บุคลากรและระบบงานรองรับ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อ บล. สมาชิกและตลาดทุนโดยรวม อันจะช่วยยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในอนาคต
พร้อมกันนี้ สมาคมได้นำเสนอมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ในกรณีการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ว่า สมาคมโดยชมรมวาณิชธนกิจจะไปดำเนินการกำหนดกรอบแนวทางการกำหนดราคาหลักทรัพย์ที่เป็นธรรมเพื่อให้สมาชิกปฏิบัติต่อไป และกรณีการขายหลักทรัพย์ที่เหลือจากการจำหน่ายในวันแรกที่หลักทรัพย์นั้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น สมาคมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จะต้องพิจารณาความเหมาะสมและสภาวะตลาด
นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือผู้จัดจำหน่ายฯ ที่เป็น lead underwriter ให้จัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์หลังจาก IPO เป็นรายไตรมาสอย่างน้อยในช่วงระยะเวลา 1 ปี หลังจากการเสนอขาย เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งชมรมจะเวียนแจ้งแนวทางให้สมาชิกทราบต่อไป