ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร UV ที่ “BBB" แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 3, 2010 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ยูนิเวนเจอร์(UV) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัท อเดลฟอส จำกัด ตลอดจนรายได้ประจำที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการพื้นที่สำนักงานให้เช่าซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร และความสามารถในการรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจสังกะสีออกไซด์

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการพาร์คเวนเจอร์สให้สำเร็จ รวมถึงผลงานในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีไม่มาก และภาระหนี้สินที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังพิจารณาอันดับเครดิตโดยคำนึงถึงลักษณะที่ผันผวนของทั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสังกะสีออกไซด์ ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงจากผลกระทบที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถบริหารการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามแผนงาน โดยในช่วงระหว่างการก่อสร้างนั้นคาดว่าฐานะทางการเงินของบริษัทจะอ่อนตัวลงเนื่องจากบริษัทต้องพึ่งพาเงินกู้ยืมจำนวนมากเพื่อใช้ก่อสร้างโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ รายได้จากโครงการที่อยู่อาศัยคาดว่าจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในปี 2553 ในขณะเดียวกันนั้น ในอนาคตบริษัทจะต้องวางแผนเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยเป็นระยะเพื่อที่จะสามารถรักษาระดับการเติบโตของยอดขายให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้

UV ก่อตั้งในปี 2523 เพื่อผลิตสังกะสีออกไซด์ และในปี 2543 เริ่มเปลี่ยนไปเน้นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยลงทุนในโครงการร่วมทุนกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง และมีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยไปแล้วกว่า 20 แห่ง ด้วยมูลค่ารวมทั้งสิ้นมากกว่า 17,000 ล้านบาท

หลังจากที่บริษัทอเดลฟอสกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 2550 โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทก็เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเจ้าของกิจการของบริษัท อเดลฟอส เป็นบุตรชาย 2 คนของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจเบียร์และสุราที่ใหญ่ที่สุดของไทยและยังเป็นเจ้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งภายใต้ชื่อทีซีซีกรุ๊ปด้วย โดยบริษัทอเดลฟอสเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวม 51.6%

และนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา บริษัทได้เน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวสูง โดยในปี 2550 บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท แกรนด์ยูนิตี้ดิเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (GUD) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม จาก 33% เป็น 60% ทำให้บริษัทเป็นผู้ควบคุมกิจการทั้งหมดของ GUD

ปัจจุบัน GUD อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเพื่อผู้มีรายได้ปานกลางหลายแห่งภายใต้ชื่อ U Sabai และ U Delight และโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ชื่อ Park Ventures ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานและโรงแรม โดยบริษัทได้ให้เช่าช่วงพื้นที่ในส่วนของโรงแรมซึ่งมีขนาดครึ่งหนึ่งของพื้นที่ขายทั้งหมดของโครงการแก่ บริษัท ทีซีซี ลักซ์ชูรีโฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (TCCLH) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทีซีซีกรุ๊ปเพื่อพัฒนาเป็นโรงแรม 5 ดาว ซึ่งบริษัทได้รับค่าเช่าพื้นที่ล่วงหน้าจาก TCCLH เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการ โดยบริษัทจะบริหารพื้นที่ในส่วนของสำนักงานเท่านั้นเมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี 2555

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น รายได้หลักของ UV จึงยังคงมาจากธุรกิจสังกะสีออกไซด์โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของรายได้ทั้งหมดในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 และคาดว่าในปี 2553 ยอดขายที่อยู่อาศัยจะเติบโตและมีสัดส่วนประมาณ 50% ของรายได้รวมทั้งหมด

ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทชะลอตัวในปี 2551-2552 โดยปริมาณยอดขายสังกะสีออกไซด์ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 คงอยู่ในระดับเดียวกับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 แต่มูลค่าขายลดลงถึง 37% จากช่วงเดียวกันของปี 2551 เนื่องจากราคาที่ลดลงอย่างมากในตลาด London Metal Exchange (LME) รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 อยู่ที่ 211 ล้านบาท คิดเป็น 27% ของรายได้รวมของบริษัท โดยเพิ่มขึ้นจาก 31 ล้านบาทในปี 2551

บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 1% ในปี 2551 และ 4.5% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 ในขณะที่ภาระเงินกู้รวม (ไม่รวมภาระค่าเช่า) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 34 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 เป็น 568 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 และ 702 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 120-130 ล้านบาทในปี 2549-2550 เป็น 367 ล้านบาทในปี 2551 และ 388 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 อันเป็นผลจากการที่บริษัทรับค่าเช่าล่วงหน้าจาก TCCLH สำหรับสัญญาเช่าช่วงพื้นที่โรงแรมระยะยาวเป็นสำคัญ

ดังนั้นกระแสเงินสดที่เคยอยู่ในระดับดีผิดปกติก็ลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมซึ่งเคยสูงถึง 357% ในปี 2550 ลดลงเหลือ 64.5% ในปี 2551 และ 52.1% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552

ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนอันเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศและวิกฤติการณ์ทางการเงินทั่วโลก แม้ตลาดจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 แต่ก็ยังถือว่าชะลอตัวอยู่และถูกครอบงำโดยผู้ประกอบการรายใหญ่มากยิ่งขึ้น และแม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลซึ่งอนุญาตให้ผู้ซื้อบ้านสามารถนำเงินซื้อบ้านในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นสุดลงเมื่อเดือนธันวาคม 2552 แต่ก็คาดว่าความต้องการที่อยู่อาศัยในปี 2553 น่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2552 มากนัก กระนั้นความต้องการที่อยู่อาศัยก็ยังคงขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทริสเรทติ้งกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ