(เพิ่มเติม) JMART เป้าปี 53 กำไรโต 40% ขยายสาขา 20-30 แห่ง,จับมือท้องถิ่นตั้งร้านย่อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 3, 2010 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ มาร์ท(JMART) กล่าวว่า บริษัทมีแผนขยายเครือช่ายการจัดจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศเต็มรูปแบบในปีนี้ พร้อมทั้งตั้งเป้าผลประกอบการเติบโต 40% จากส่วนแบ่งทางการตลาด 12% โดยคิดจากมูลค่า

ขณะที่นายศิริชัย ลาภมหานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART รับผิดชอบส่วนการตลาดและการขาย การจัดหน่ายโทรศัพท์มือถือ การบริหารพื้นที่เช่า และธุรกิจอื่น ๆ มั่นใจว่า บริษัทจะบรรลุเป้าหมายผลประกอบการเติบโตได้ ถึงแม้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้านี้จะกระทบการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ตลาดโทรศัพท์มือถือยังมีอัตราการขายตัวต่อเนื่อง

การเติบโตของตลาดโทรศัพท์ถือถือในขณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเครื่องใหม่ทดแทนเครื่องเก่า และพฤติกรรมผู้บริโภคมองหาการใช้งานที่ต้องการความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงมากขึ้น รวมทั้ง การใช้งาน social network ได้รับความนิยม โดยเฉพาะโนกลุ่มวัยรุ่น

นายศิริชัย เปิดเผยว่า ในปี 53 บริษัทตั้งเป้าขยายสาขาอีก 20-30 แห่ง จากสิ้นปี 52 อยู่ที่ 207 แห่ง จะเพิ่มเป็นประมาณ 230 แห่ง นอกจากนี้จะได้ร่วมมือกับร้านค้าท้องถิ่นจัดตั้งร้านค้าเจมาร์ท พาร์ทเนอร์ เจาะพื้นที่ต่างจังหวัด โดยจะเริ่มหารือกับผู้ประกอบการทั่วประเทศในไตรมาส 2/53 คาดว่าปีนี้จะเปิดร้านค้าภายใต้แบรนด์"เจมาร์ท"ราว 300 แห่ง หรืออำเภอละ 1 แห่ง โดยใช้งบลงทุน 50,000 บาท/ร้าน และในปี 54 จะเพิ่มเป็น 800 แห่ง

สำหรับตลาดโทรศัพท์มือถือในปีนี้คาดว่ามูลค่าจะเติบโต 7-10% จากปี 52 ที่มีมูลค่าตลาดรวม 32,000 ล้านบาท โดยบริษัทตั้งเป้าจะรักษาระดับราคาขายเครื่องโทรศัพท์เฉลี่ยสูงขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยมาที่ 5,000 บาท/เครื่อง จากปี 52 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 4,900 บาท/เครื่อง ซึ่งสวนทางต่อตลาดรวมที่ปีนี้ที่ราคาเฉลี่ยโทรศัพท์มือถือน่าจะปรับลดลง

ส่วนทิศทางโทรศัพท์มือถือเฮ้าส์แบรนด์ในปีนี้คงไม่เติบโต เนื่องจากกระแสความนิยมโทรศัพท์ทัชสกรีนมีมากขึ้น อีกทั้งยังมีผู้เล่นรายอื่นเพิ่มขึ้นอีก

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ผู้อำนวยการบริหารสายการตลาด บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ตเวิร์ค เซอร์วิส (JMT) บริษัทในเครือ JMART กล่าวว่า ในปี 53 บริษัทตั้งเป้าซื้อหนี้เข้าพอร์ตมาบริหารอีก 1,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านบาท จากพอร์ตในปี 52 อยู่ที่ประมาณ 4,300 ล้านบาท โดยหนี้ที่สนใจซื้อมาบริหารส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อเงินสด

ขณะที่ในส่วนของการรับจ้างบริหารหนี้ โดยตั้งเป้าจะเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ยอดการรับจ้างบริหารหนี้ในสิ้นปี 53 อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 52 อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ