ทริส เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรSIRI เป็น BBB+ จาก BBB และหุ้นกู้เป็นBBB

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 5, 2010 08:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. แสนสิริ (SIRI) เป็นระดับ “BBB+" จากเดิมที่ “BBB" และเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทเป็นระดับ “BBB" จากเดิมที่ “BBB-" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

โดยอันดับเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงฐานะการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ อันดับเครดิตอยู่บนพื้นฐานที่บริษัทมีสถานะผู้นำและมีชื่อเสียงที่แข็งแกร่งในตลาดคอนโดมิเนียม ตลอดจนตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจที่แปรปรวนซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา รวมทั้งจากวงจรธุรกิจที่มีความผันผวน และนโยบายของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อซึ่งทำให้ผู้ซื้อบ้านกู้เงินได้ยากขึ้น ทั้งนี้ ในการให้อันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทแสนสิริจะยังคงสามารถบริหารการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมหลายแห่งให้เป็นไปตามแผนงาน โดยที่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทจะยังคงมีรายได้บางส่วนจากการมียอดขายรอการส่งมอบจากคอนโดมิเนียมหลายโครงการ ความเสี่ยงที่เกิดจากการโอนโครงการคอนโดมิเนียมลดลงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและนโยบายการเก็บเงินล่วงหน้าซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสามารถเลือกชำระราคาเป็นเงินก้อนทันทีล่วงหน้าเพื่อรับส่วนลด ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับเดียวกับปี 2552 แม้ว่ามาตรการด้านภาษีของรัฐบาลซึ่งลดหย่อนค่าธรรมเนียมภาษีธุรกิจเฉพาะและการโอนอสังหาริมทรัพย์ใกล้จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2553 ก็ตาม ส่วนในระยะใกล้นั้นคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงต่ำกว่า 50% เมื่อการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแล้วเสร็จและมีการโอนให้แก่ผู้ซื้อในช่วงก่อนที่มาตรการภาษียังไม่หมดอายุ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทแสนสิริเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ณ เดือนพฤศจิกายน 2552 บริษัทมีโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมเพื่อขายจำนวนมากกว่า 50 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 50% บ้านเดี่ยว 35% และทาวน์เฮ้าส์ 15% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด ราคาขายเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยโดยรวมลดลงเป็น 4.3 ล้านบาทต่อหน่วยสะท้อนถึงนโยบายในการขยายฐานลูกค้าสู่ผู้มีรายได้ปานกลางมากขึ้น ณ เดือนพฤศจิกายน 2552 บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้ประมาณ 16,600 ล้านบาท และมีมูลค่าโครงการพร้อมขายอีกประมาณ 17,000 ล้านบาท บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี การมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่แข็งแกร่ง และสินค้าที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดคอนโดมิเนียม

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัวในปี 2552 แต่บริษัทแสนสิริยังคงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการมียอดขายรอการส่งมอบในปริมาณมาก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นซึ่งได้มาจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายย่อย โดยบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 11,006 ล้านบาทใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 จาก 10,067 ล้านบาทในปี 2551 บริษัทชะลอการลงทุนในช่วงระหว่างปลายปี 2551 จนถึงต้นปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน และกลับสู่การลงทุนตามปกติตั้งแต่กลางปี 2552 เป็นต้นมา งบประมาณการซื้อที่ดินลดลงเหลือประมาณ 2,500 ล้านบาทสำหรับปี 2552 จากประมาณ 4,000-4,500 ล้านบาทในปี 2550 และปี 2551

อย่างไรก็ตาม มูลค่าของโครงการที่เปิดตัวขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับประมาณ 19,000 ล้านบาทในปี 2552 จากประมาณ 12,000 ล้านบาทในปี 2551 การเปิดตัวโครงการมากขึ้นทำให้บริษัทมียอดการจองเพิ่มขึ้นเป็น 13,585 ล้านบาทในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 จาก 10,258 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2551 โครงการคอนโดมิเนียมมูลค่ามากกว่า 7,000 ล้านบาทที่เปิดตัวไปสามารถสร้างยอดการจองถึง 6,300 ล้านบาทในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ตลอดปี 2552 บริษัทได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลที่เริ่มในปลายเดือนมีนาคม 2551 โดยบริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเป็น 14.4% จาก 12.2% ในปี 2551 และ 10.2% ในปี 2550 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังคงอยู่ที่ 2.8-3.3 เท่าตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงจาก 10% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 เป็น 8.4% ในช่วงเดียวกันของปี 2552 แต่ก็คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการโอนคอนโดมิเนียมหลายโครงการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 47.5% ในเดือนธันวาคม 2550 เป็น 53.4% ในเดือนกันยายน 2552 สืบเนื่องจากความต้องการใช้เงินทุนในการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็คาดว่าจะลดลงในปลายปี 2552

ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนอันเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศและวิกฤติการณ์ทางการเงินทั่วโลก แม้ตลาดจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 แต่ก็ยังถือว่าชะลอตัวอยู่และถูกครอบงำโดยผู้ประกอบการรายใหญ่มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลซึ่งอนุญาตให้ผู้ซื้อบ้านในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทสามารถใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็สิ้นสุดลงเมื่อเดือนธันวาคม 2552 ทั้งนี้ ความต้องการที่อยู่อาศัยในปี 2553 จะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยทริสเรทติ้งคาดว่าความต้องการที่อยู่อาศัยน่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2552 มากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ