BWG หันหางานกำจัดขยะชุมชนชดเชยกากอุตฯลดวูบปีนี้ พร้อมศึกษาขยายงานตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 5, 2010 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เบตเตอร์เวิลด์ กรีน(BWG)คาดว่า ปริมาณกากอุตสาหกรรมที่จะส่งมาเข้าระบบบำบัดของบริษัทในปีนี้จะลดลงจากปีก่อนเกือบ 50% ซึ่งจะกระทบกับรายได้รวม โดยปกติปริมาณกากส่งมาเข้าบ่อบำบัด จ.สระบุรี จะมีประมาณ 500-600 ตัน/วัน หรือคิดเป็น 60-70 คันรถบรรทุก แนวโน้มปีนี้น่าจะลดลงเหลือประมาณ 200-300 ตัน/วัน

"รายได้ปีนี้น่าจะลดลงกว่าปี 52 เพราะลูกค้าลดลงไปเยอะ ปริมาณกำจัดกากลดลงกว่าครึ่ง ไม่น่าจะคุ้มทุน" นายเอกรินทร์ กล่าว

ดังนั้น บริษัทจึงมีแนวคิดจะหันไปรับงานบำบัดขยะชุมชนมากขึ้น หลังจากปีก่อนบริษัทเข้าไปรับงานบำบัดขยะของเทศบาล จ.นครราชสีมา มูลค่า 400 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับหลายจังหวัดที่มีความสนใจ เช่น จ.อุบลราชธานี เพราะโครงการฟื้นฟูบ่อขยะชุมชนสามารถผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งรายได้จากส่วนนี้ก็จะเข้ามาช่วยในส่วนกากอุตสาหกรรมที่ลดลง

"ตอนนี้ขยะชุมชนมีหลายจังหวัดที่จะทำ ก็ถือเป็นโอกาสของบริษัทและก็ดูแลสิ่งแวดล้อมดีด้วย ตลาดขยะชุมชนกว้าง เราก็คงจะแปรทิศทางไปทางนั้นตอนนี้ก็พยายามคุยกับ อบต.กับท้องถิ่นนั้นๆ"นายเอกรินทร์ กล่าว

นายเอกรินทร์ กล่าวว่า ภาวะอุตสาหกรรมกำจัดกากฯ โดยรวมปีนี้น่าจะลดลง ซึ่งก็มีผลกระทบเราแน่นอน ส่วนกรณีโครงการในมาบตาพุดที่ศาลสั่งถึงแม้ธุรกิจจะไม่กระทบโดยตรง แต่บริษัทเป็นปลายทางที่เกี่ยวข้องในอนาคตก็จะกระทบเราด้วย

สำหรับการเข้าทำธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมในประเทศพม่า ที่เมืองมัณทะเลย์นั้น ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลพม่าเข้ามาดูงานและอยากให้เราไปกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และคาดว่าภายในปีนี้น่าจะได้เห็น และนอกจากรัฐบาลพม่าแล้ว ยังมีโครงการภายใต้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB)และธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) ทางประเทศบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ภูฐาน ที่เข้ามาติดต่อเรา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจบริษัทลูก คือบริษัท อัคคีปราการ ซึ่งรับสัมปทานกำจัดกากอุตสาหกรรมด้วยเตาเผาขยะในนิคมอุตสาหกรรมบางปูนั้น ปีนี้น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะปริมาณขยะน่าจะอยู่ตัวแล้ว

นายเอกรินทร์ กล่าวถึงปัญหาศูนย์กำจัดกากอุตฯ ที่จ.สระบุรี ซึ่งมีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพว่า การกำจัดกากอุตสาหกรรมทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ในการรับกากอุตสาหกรรมจากโรงงานมาเข้าระบบกำจัดแต่ละครั้งต้องผ่านความเห็นชอบจากกรมโรงงานก่อน ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของภาครัฐที่กำหนดไว้

นอกจากนั้น พนักงานประจำของบริษัททุกคนจะได้รับการตรวจเลือดและสุขภาพเพื่อหาสารพิษในร่างกายอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เคยปรากฎว่าพนักงานคนไหนมีสารพิษสะสมในร่างกาย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่ราษฎรซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์ 5-7 กิโลเมตรจะได้รับผลกระทบดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ