นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) ประกาศเป้าหมายภายในปี 56 ขึ้นเป็น 1 ใน 3 ธนาคารสร้างอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น(ROE)สูงสุด เชื่อด้วยเครือข่ายและความแข็งแกร่งของบริษัทแม่จะช่วยหนุนการเติบโตได้ตามที่คาดไว้ โดยเริ่มวางรากฐานการเติบโตอย่างแข็งแกร่งภายในปีนี้ ขณะที่ซีไอเอ็มบีกรุ๊ปคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยราว มิ.ย.53 นี้
"ปีที่ผ่านมาพยายามปัดกวาดให้เรียบร้อยเข้าที่ เพื่อปรับปรุงวางรากฐานให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน" นายสุภัค กล่าว
CIMBT ตั้งเป้าทางธุรกิจในปี 53 จะมี ROE สูงขึ้นเป็น 7.10% จาก 0.06% ในปีก่อน โดยจะขยายสินเชื่อและเงินฝากในระดับ 10-15% จากที่ปี 52 สินเชื่อลดลง 6.8% และเงินฝากลดลง 44.6%
ขณะที่ลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ให้มีสัดส่วนลงเหลือน้อยกว่า 5% จาก 6.0% ในปี 52 พร้อมทั้งตั้งเป้าเพิ่มส่วนต่างดอกเบี้ย(NIM) ให้ได้ 3.5-3.9% จาก 2.7% ในปี 52 และคาดว่าจะมีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยโตมากกว่า 30%
"ธนาคารวางเป้าการเติบโตของสินเชื่อรวมในปี 53 ไว้ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตั้งอัตราการเติบโตด้านเงินฝากประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ส่วนอัตราการขยายตัวของรายได้จากค่าธรรมเนียมใหม่อยู่ประมาณ 35-40 เปอร์เซ็นต์" นายสุภัค กล่าว
นายสุภัค กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะเน้นการเติบโตของรายได้ที่มั่นคงและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง ด้วยการเดินหน้าลงทุนในธุรกิจหลัก และเน้นประสิทธิภาพการใช้จ่ายและต้นทุนไปพร้อมๆ กันใน 3 ด้าน ได้แก่ การบริหารต้นทุนทางการเงิน เช่น การเพิ่มสัดส่วนเงินฝากบัญชีกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์จาก 25% ในปลายปี 52 มาเป็น 30%, กระจายแหล่งต้นทุน, ปรับปรุงการบริหารช่องทางการจำหน่ายและบริการ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งสร้างผลประกอบการที่ดีและมีความรับผิดชอบ
รวมทั้ง การเพิ่มผลตอบแทนจากสินเชื่อที่เป็นธุรกิจใหม่ เช่น สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน, สินเชื่อธุรกิจ SMEs ในต่างจังหวัด, ออกผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับลูกค้าองค์กรขนาดกลาง ธุรกิจที่เน้นการอนุรักษ์พลังงาน สินเชื่อที่มีอนุพันธ์แฝงและมีออพชั่น การเจาะตลาดวานิชธนกิจ
การเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม เช่น ปรับปรุงกระบวนการ cross selling, เพิ่มธุรกรรมกลุ่มผลิตภัณฑ์ transactional banking, หาพันธมิตรทางธุรกิจ, สร้างการเติบโตธุรกิจด้านวานิชธนกิจ
"หากมีลูกค้าเราของที่ต้องการไปลงทุนในมาเลเซีย สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย เราก็จะส่งต่อให้กับเครือข่ายในกลุ่ม CIMB Groupที่อยู่ในประเทศนั้นๆ" นายสุภัค กล่าว
ส่วนกรณีการนำหุ้นซีไอเอ็มบีกรุ๊ปมาเลย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้นคาดว่าจะเป็นเดือน มิ.ย.53 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก โดยนี้อยู่ระหว่างรองบการเงินไตรมาส 1/53 ที่จะต้องรายงานให้ตลาดหุ้นมาเลเซียก่อนจะส่งมาให้ .ล.ต.ของไทย คาดว่ากำไรน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ๆ ที่เฉลี่ยระดับ 600 ล้านริงกิต
ทั้งนี้ ซีไอเอ็มบีกรุ๊ปเป็นผู้ให้บริการทางด้านการเงินที่มีขาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือหุ้นโดย Bumiputra-Commerce Holdings Bhd บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศมาเลเซีย ด้วยมูลค่าตลาด(Market Capitalization) เกือบ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และต่อมาได้เข้าควบรวมกิจการในประเทศสิงค์โปร์ อินโดนีเซีย และไทย