โบรกเกอร์ ประสานเสียงแนะ"ซื้อ"และ"ซื้อเมื่ออ่อนตัว"หุ้น บมจ.ทาทา สตีล(ประเทศไทย)(TSTH) แม้ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/52-53(ต.ค.-ธ.ค.52) จะออกมาน่าผิดหวัง แต่ก็เป็นเพราะสาเหตุการทดลองเดินเครื่องโรงถลุงเหล็กที่ยังใช้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลให้โบรกเกอร์ออกมาปรับประมาณการรายได้งวดทั้งปี 52/53 ลง
แต่คาดว่าบริษัทจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ และเดินเครื่องโรงถลุงได้เต็มที่ในไตรมาส 4/52-53 ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยะยาวจากการมีอุตสาหกรรมเหล้กครบวงจร เชื่อว่าจะทำให้งวดปี 53/54 กำไรเติบโตก้าวกระโดด เนื่องจากอัตรากำไรสูงขึ้น ประกอบกับ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและผลจากงบไทยเข้มแข็งจะทำให้ปริมาณการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาเหล็กแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาแล้ว
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) บล.กิมเอ็ง ซื้อเมื่ออ่อนตัว 2.30 บล.ไอร่า ซื้อเมื่ออ่อนตัว 2.23 บล.ซิกโก้ ซื้อ 2.10 สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ซื้อ 2.61 บล.โกลเบล็ก ซื้อเมื่ออ่อนตัว 2.20
นายสุรชัย ประมวลเจริญกิจ นักวิเคราะห์ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้ว่าบริษัทมีผลประกอบการไตรมาส 3/52-53(ต.ค.-ธ.ค.52)ขาดทุนสุทธิ 3 ล้านบาท ถือว่าน่าผิดหวังเนื่องจากโรงงานถลุงเหล็กยังเอื้อประโยชน์ไม่เต็มที่และยังไม่เต็มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้ต้นทุนของบริษัทสูงขึ้น
"แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 3/52 ออกมาน่าผิดหวังจากขาดทุน แต่ไม่มากนัก เพราะมีปัญหาจากโรงถลุงเหล็กใหม่ที่ยังเอื้อประโยชน์ไม่เต็มที่ แต่งวดปี 53/54 เชื่อว่าปัญหาจะหมดไปและการเป็นโรงเหล็กครบวงจรได้เปรียบโรงเหล็กอื่น"นายสุรชัย กล่าว
TSTH ถือเป็นโรงเหล็กที่ครบวงจรมีทั้งโรงหลอมและโรงถลุง จึงมีข้อได้เปรียบโรงเหล็กรายอื่นๆ ประเมินว่าปัญหาการใช้โรงถลุงเหล็กที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพและการผลิตต้นทุนสูงน่าจะแก้ไขได้ทันงวดให้มีผลดีต่อปี 53/54 ดังนั้น จึงคาดว่าปี 52/53 ผลประกอบการจะต่ำกว่าที่คาด แต่งวดปี 53/54 กำไรสุทธิน่าจะอยู่ที่ 1,700-1,800 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.21 บาท
สำหรับการทดลองผลิตเตาถลุงเหล็กตั้งแต่เดือน ต.ค.52 ยังไม่ได้ผลิตเชิงพาณิชย์ ทำให้ไตรมาส 3/52-53 มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นเป็น 247 ล้านบาท รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับลดลงเหลือเพียง 4% จาก 9% ในไตรมาสก่อน แต่ดีขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบถึง 34%
ด้านยอดขายเท่ากับ 5,661 ล้านบาท โดยปริมาณขาย 294,000 ตัน ลดลง 1% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวของปีก่อน ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยเท่ากับ 19,300 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
บทวิเคราะห์ของ บล.กิมเอ็ง คาดแนวโน้มผลประกอบการของ TSTH ไตรมาส 4/53 หรือ งวด ม.ค.—มี.ค.53 จะปรับตัวดีขึ้น กลับมามีกำไรประมาณ 200-300 ล้านบาท จากแรงหนุนราคาเหล็กเส้นเดือน ม.ค.ปรับตัวดีขึ้น ราคาเหล็กเส้นข้ออ้อยขนาด 16 ม.ม.เพิ่มขึ้นเป็น 19,120 บาท/ตัน จากเดือน ธ.ค.อยู่ที่ 18,760 บาท/ตัน และในช่วงเดือน ม.ค. — มี.ค. ปกติจะเป็นช่วงฤดูขายวัสดุก่อสร้างคาดจะทำให้ปริมาณขายเหล็กเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 แสนตัน นอกจากนี้โรงถลุงเหล็กขนาดย่อมคาดจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสนี้ ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยปรับลดลง
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ไอร่า มองว่า TSTH เป็นหุ้นเหล็กที่ผู้นำตลาด ฐานะการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีสภาพคล่องจากเงินสดในมือเกือบ 1,800 ล้านบาท โดยมีสต็อกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 5,500 ล้านบาท หรือประมาณ 3 เดือน คาดสามารถรองรับความต้องการที่คาดมีแนวโน้มที่ดี ขณะที่ D/E อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.53 เท่าใกล้เคียงไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งรวมเงินกู้ระยะยาว 5,200 ล้านบาทที่ส่วนใหญ่ใช้ลงทุนเตาถลุงเหล็ก Mini Blast Furnace
คาดว่างวดปี 53/54 จะเริ่มเห็นกำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่โรงหลอมเหล็กสามารถเดินเครื่องได้เต็มที่ ทำให้มาร์จิ้นปี 53/54 เพิ่มเป็น 10.5% จากปี 52-53 ที่ 5.7-5.8% ในงวดปี 52/53
"TSTH เป็นผู้นำกลุ่มเหล็กอยู่แล้ว แม้มีปัญหามาร์จิ้นไม่ดีนัก หลังโรงเหล็กใหม่ยังไม่คุ้มทุนแต่ปัญหาจะหมดไปช่วงครึ่งปีหลัง 53 เชื่อว่ามาร์จิ้นจะปรับเพิ่มสูงขึ้น"นักวิเคราะห์ กล่าว
ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.ซิกโก้(SSEC) ระบุว่า ผลการดำเนินงาน 9M09/10A ต่ำกว่าประมาณการของเรา ทำให้ SSEC ปรับประมาณการกำไรสุทธิในปี 52/53 ลงจาก 1,053 ล้านบาท เหลือเพียง 267 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิ 9M09/10A คิดเป็น 25.1% ของกำไรสุทธิที่เราประมาณการใหม่ โดยสาเหตุหลักมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นใน 3Q09/10A
ทั้งนี้ เราปรับลดราคาเหมาะสมจาก 2.57 บาท เป็น 2.10 บาท อิง P/BV เท่ากับ 1x เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากผลการดำเนินงาน 3Q09/10A แม้ว่าเราจะปรับประมาณการลง แต่ราคาเหมาะสมใหม่สูงกว่าราคาปัจจุบันถึง 15% ประกอบกับ MBF จะส่งผลดีในระยะยาวต่อ TSTH ในแง่ของ Gross Profit Margin ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะยาว จากการขยายฐานลูกค้าไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ และการกระจายความเสี่ยงต่อการพึ่งพิงกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเพียงกลุ่มเดียว
ส่วนบทวิเคราะห์ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย คาดว่า งวดปี 52/53 กำไรสุทธิของ TSTH ลดลง 500 ล้านบาท จากประมาณการเดิมที่ 1,526 ล้านบาท หลังเริ่มบันทึกค่าใช้จ่ายจากการเดินเครื่องโรงถลุงขนาดย่อม ส่งผลให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายจากการทดสอบเดินเครื่องเพิ่มขึ้น จนทำให้อัตรากำไรขั้นต้น(GPM) ลดลงจาก 8.7% ใน Q2/52 เป็น 3.6% ในQ3/52 และมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ
อย่างไรก็ตาม ในปี 53/54 คาดว่าผลประกอบการของบริษัทกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จะมีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,838 ล้านบาท จากอุปสงค์การใช้เหล็กเส้นที่คาดจะปรับขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล คาดจะทำให้ปริมาณและราคาขายของบริษัทขยายตัวสูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้ผลการดำเนินงานของบริษัทกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง