นาย ฟิลิป พอล อเล็กซานดร์ อาร์โต้ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง(SCCC)เปิดเผยว่า ในปี 53 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นจากปี 52 จำนวน 3% จากผลดีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ของภาครัฐ รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ 6.87 ล้านตันในปีนี้ โดยจะรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ 27.7%
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4/52 ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับลดลง 2% เมื่อเทียบปี 51 ซึ่งถือว่าลดลงน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 10% ซึ่งความต้องการใช้ปูนลดลงในปี 52 จากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ขณะนี้มองว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนและผู้บริโภคให้ปรับตัวดีขึ้น
"บริษัทจะพยายามรักษามาร์เก็ตแชร์ที่ 27.7% ภายใต้ยอดขายในประเทศที่ 6.87 ล้านตัน สูงขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากมาตรการของภาครัฐและวงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปีก่อน จะสนับสนุนให้ปริมาณเพิ่มสูงขึ้น"นายฟิลิป กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายฟิลิป ยอมรับว่า ในแง่ของราคาขายยอมรับว่ายังประเมินได้ยากในขณะนี้ คงจะต้องขึ้นกับภาวะตลาดและการแข่งขันด้วย เพราะราคาขายปูนฯ ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวลดลงเล็กน้อย ถือว่าผิดปกติจากที่ราคาขายทุกปีจะลดลงในช่วงไตรมาส 3 และ 4 แต่บริษัทยังเชื่อว่าราคาจะมีเสถียรภาพภายในสิ้นปีนี้ได้
"มองยากเหมือนกันในปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร คงขึ้นอยู่กับการกระตุ้นของภาครัฐว่าจะอัดฉีดการลงทุนและการก่อสร้างได้มากน้อยแค่ไหน เพราะของเราก็ขับเคลื่อนไปตามธุรกิจอสังหาฯ แต่เท่าที่ดูโครงการของภาครัฐที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นสายสีม่วงหรือสายสีแดง น่าจะทำให้บรรยากาศดีขึ้นได้ แต่ยังมีปัจจัยเรื่องเสถียรภาพของการเมืองที่จะมีประเด็นเข้ามาด้วยเหมือนกัน" นายฟิลิป กล่าว
นายฟิลิป ยังเปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนและการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดเตรียมเชื้อเพลิงและวัตถุดิบทดแทน ซึ่งหน่วยผลิตไฟฟ้าจากความร้อนเหลือใช้ของเตาเผาที่ 5 และ 6 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือน ก.ค.53 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึงปีละ 25 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่ลงทุนต่อเนื่องมาจากปีก่อน คาดว่าจะลดต้นทุนลงได้ 400-500 ล้านบาท/ปี
และในปีนี้บริษัทจะยังให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาท ในหน่วยผลิตไฟฟ้าจากความร้อนเหลือใช้เพิ่มเติมอีก 7 เมกะวัตต์ ซึ่งน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 54 เชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนลงได้อีก 140 ล้านบาท