บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า ในปี 53 เอไอเอสมีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตของกระแสเงินสดหลังหักเงินลงทุนที่ระดับ 12% เมื่อเทียบกับปี 52 โดยคาดการณ์รายได้จากการบริการจะเพิ่มขึ้น 3% จากแนวโน้มของสภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น การลดค่าใช้จ่ายจะไม่มีผลมากเหมือนในปี 52 และคาดการณ์ว่าอัตราส่วน EBITDA margin จะอยู่ที่ระดับ 44%
สำหรับการออกใบอนุญาตการให้บริการ 3G บนคลื่น 2.1 GHz ยังคงมีความไม่แน่นอน งบลงทุนสำหรับปี 53 จึงปรับลดลงมาที่ระดับ 6.2 พันล้านบาท ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จากสภาวะตลาดที่เริ่มอิ่มตัวในแง่จำนวนผู้ใช้บริการ งบลงทุนนี้จะใช้สำหรับการขยายความสามารถในการรองรับบริการด้านข้อมูลผ่านเทคโนโลยี EDGE และเทคโนโลยี HSPA บนคลื่น 900 MHz ไม่รวมการลงทุนเทคโนโลยี 3G บนคลื่น 2.1GHz
เอไอเอส คาดว่า ในปี 53 อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะปรับตัวเพิ่ม 3% อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มดีขึ้นจากสินค้าเกษตรที่มีราคาสูงขึ้นเหมือนในช่วงปี 51 ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยในเขตต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น การใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติซึ่งส่วนใหญ่มาจากชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ สำหรับบริการโทรออกต่างประเทศนั้น คาดว่าจะยังมีการแข่งขันด้านราคาต่อเนื่องจากไตรมาส 4/52 ที่ผ่านมา
บริการด้านข้อมูลจะเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของรายได้ ขณะที่รายได้จากการให้บริการเสียงยังทรงตัว อัตราเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากรจะเพิ่มสูงกว่า 100% ในปี 53 โดยทั้งอุตสาหกรรมจะมีจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 ถึง 4 ล้านเลขหมาย หรือเพิ่มขึ้นเพียง 5% ดังนั้น คาดว่าการแข่งขันในตลาดการให้บริการเสียงจะยังคงอยู่ในระดับทรงตัว
ขณะที่ตลาดการให้บริการด้านข้อมูลจะเติบโตขึ้นโดยเฉพาะจากการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยคาดว่ารายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลจะเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 52 จากจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นและปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการรายคน ปัจจัยสำคัญในการเติบโตเนื่องมาจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในขณะที่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแบบผ่านสายโทรศัพท์ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก
เอไอเอสคาดว่าระดับกระแสเงินสดหลังหักเงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 12% เนื่องจากได้ปรับลดเงินลงทุนในเครือข่ายลงจาก 9,915 ล้านบาท ในปี 52 เป็น 6,200 ล้านบาทในปี 53 ในส่วนของการลดค่าใช้จ่ายนั้น บริษัทได้ดำเนินโครงข่ายเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยการควบคุมต้นทุนมาตั้งแต่ปี 51 ต่อเนื่องมาถึงปี 52 ดังนั้น การจะลดค่าใช้จ่ายลงอีกในปี 53 จึงอาจเป็นไปได้น้อย ยกเว้นค่าใช้จ่ายบางตัว
อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการเติบโตของบริการด้านข้อมูล จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายบางรายการปรับเพิ่มขึ้น ในส่วนค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสุทธินั้นคาดว่าจะอยู่ในระดับ 400-700 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าในปี 52 ดังนั้นบริษัทคาดว่า EBITDA margin จะอยู่ที่ระดับ 44%
รายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนคาดว่าจะทรงตัว แม้สภาวะเศรษฐกิจทีทฟื้นตัวจะทำให้ความต้องการของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น แต่ตลาดเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดโทรศัพท์ราคาประหยัด ดังนั้นกลยุทธ์ในการขายจะเน้นการจำหน่ายสมาร์ทโฟนและแอร์การ์ดซึ่งให้อัตรากำไรที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ของเอไอเอสในการสร้างการเจริญเติบโตของธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการเปิดตลาด 3G ในอนาคต
สำหรับระยะเวลาการออกใบอนุญาต 3G ยังคงไม่ชัดเจน ในระหว่างนี้เอไอเอสได้พยายามเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์บนคลื่นความถี่เดิมที่ย่าน 900 MHz ในบางพื้นที่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้สัมผัสประสบการณ์ 3G เช่น เซ็นทรัลเวิลด์และสยามพารากอนในกรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี และหัวหิน ตอกย้ำความเป็นผู้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสู่ผู้ใช้บริการ
เอไอเอสจะพิจารณาการบริหารโครงสร้างเงินทุน เมื่อมีความชัดเจนในเรื่องการออกใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz มากขึ้น เนื่องจากการลงทุนใน 3G จะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนในเครือข่ายและกระแสเงินสดในระยะยาว ปัจจุบัน บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ