ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร RATCH ที่ระดับ “AA-" ด้วยแนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 18, 2010 10:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ที่ระดับ “AA-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทได้รับเงินปันผลที่แน่นอนและสม่ำเสมอจากบริษัทลูกซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน(Independent Power Producer — IPP) คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (RATCHGEN) และ บริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด (TECO) รวมถึงการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีพื้นฐานดีอีกหลายแห่ง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของงบดุลและแผนการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าและโครงการที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าในประเทศลาวด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประทศ (GDP) ที่เติบโตต่ำกว่าประมาณการอาจส่งผลทำให้ต้องมีการปรับลดแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง และอาจทำให้โครงการไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาต้องเลื่อนออกไป

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของ RATCH สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะมีรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจาก RATCHGEN และจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าอื่นๆ โดยที่รายได้เงินปันผลปีละ 4,000-5,000 ล้านบาทจะช่วยให้บริษัทสามารถลงทุนในโครงการส่วนใหญ่โดยใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และยังสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินเอาไว้ได้

ในเวลาเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีประกันของ RATCHGEN ที่ระดับ “AA" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าราชบุรีซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีโครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่งและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนประสบการณ์ที่ยาวนาน และผลงานในการบริหารโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ การมีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้นและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงส่งผลให้โรงไฟฟ้าราชบุรีมีระดับการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ลดลง แต่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทเพียงเล็ก น้อย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า RATCHGEN จะยังคงได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากรายได้ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าราชบุรี นอกจากนี้ ยังคาดว่าโรงไฟฟ้าย่อยต่างๆ จะยังคงดำรงความพร้อมจ่ายและการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ต่อไป

RATCH ก่อตั้งในปี 2543 ในรูปของบริษัทโฮลดิ้งเพื่อซื้อโรงไฟฟ้าราชบุรีจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ เดือนกันยายน 2552 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ RATCH ยังคงเป็น กฟผ. ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 45% รองลงมาได้แก่กลุ่มบ้านปู 14.99% ปัจจุบันธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 4 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 4,347 เมกะวัตต์ และมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 21,970 ล้านบาท

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 ในปี 2552 บริษัทมีรายได้เงินปันผลจำนวน 5,921 ล้านบาทจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่ง โดย RATCHGEN ยังคงเป็นผู้ส่งเงินปันผลมากที่สุดในสัดส่วน 96% ของรายได้เงินปันผลรวม นอกจากนี้ บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอีกรายหนึ่งในโครงการ IPP ของ RATCH ก็สามารถขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2551 และรายงานกำไรสุทธิจำนวน 3,622 ล้านบาทในปี 2552 เทียบกับ 2,573 ล้านบาทในปี 2551 จึงคาดว่า RPCL จะสามารถจ่ายเงินปันผลประมาณ 350-700 ล้านบาทต่อปีให้แก่ RATCH ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ดังนั้น บริษัทจะมีเงินปันผลจาก RPCL ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็น 15% ของรายได้เงินปันผลรวมในอนาคต

โครงการหงสาว่าเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง RATCH กับ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด และ Lao Holding State Enterprise โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างดีตามลำดับ พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในประเทศลาวโดยประกอบด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ขนาด 1,878 เมกะวัตต์และเหมืองถ่านหินลิกไนต์ 1 แห่ง บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า (Tariff MOU) กับ กฟผ. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 และได้รับสัญญาสัมปทานในการผลิตไฟฟ้าและทำเหมืองถ่านหินจากรัฐบาลลาวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 ทั้งนี้ คาดว่าโครงการจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2553 และมีเป้าหมายดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2558 RATCH มีนโยบายการลงทุนที่ระมัดระวัง โครงการลงทุนในโรงไฟฟ้าของบริษัทล้วนมีสัญญาขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -- PPA) ระยะยาวกับ กฟผ. ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเติบโตของ GDP และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงทำให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต้องทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเพื่อให้สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจและความต้องการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน ซึ่งอาจมีผลทำให้โอกาสในการขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยลดลง บริษัทจึงมีแผนลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อให้บริษัทเติบโตได้ตามเป้าหมาย

สำหรับ RATCHGEN เป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย RATCH และ RATCH เป็นบริษัทที่ถือหุ้น 45% โดย กฟผ. RATCHGEN เป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โรงไฟฟ้าราชบุรี ประกอบด้วย หน่วยผลิตไฟฟ้าพลังความร้อน 2 หน่วย และหน่วยผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CCGT) 3 หน่วย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 3,645 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับ 12.5% ของกำลังการผลิตติดตั้งรวมของประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2552

ปัจจุบันบริษัทขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -- PPA) ระยะเวลา 25 ปี และซื้อก๊าซธรรมชาติจาก บมจ.ปตท. (PTT) ภายใต้สัญญาขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement -- GSA) ระยะเวลา 25 ปี

ในปี 2552 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในโรงไฟฟ้าราชบุรียังคงดำเนินงานดีกว่าเป้าหมาย โดยสามารถดำรงค่าความพร้อมจ่ายเฉลี่ยที่ระดับ 87.4% และค่าอัตราความร้อนในการผลิตไฟฟ้าที่ระดับ 7,214 บีทียูต่อหน่วย (BTU/kWh) ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนสามารถดำรงค่าความพร้อมจ่ายให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 87.2% ด้วยอัตราความร้อนในการผลิตไฟฟ้าที่ 10,071 บีทียูต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าสุทธิในปี 2552 ลดลง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 12,298 ล้านหน่วย (GWh) จากสาเหตุที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศลดลงและ กฟผ. เรียกสั่งจ่ายไฟลดลงเนื่องจากมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาในระบบ อย่างไรก็ตาม การลดลงดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทเนื่องจากกำไรสุทธิส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment -- AP)

ในปี 2552 RATCHGEN มีรายได้จากการขายไฟฟ้าลดลง 16% คิดเป็น 35,313 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment — EP) ที่ลดลง 24% เนื่องจาก กฟผ. ลดการสั่งจ่ายไฟฟ้าลง 25% อย่างไรก็ตาม ค่า AP เพิ่มขึ้น 2% ตามความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่สูงกว่าเป้าหมาย กำไรสุทธิของ RATCHGEN ในปี 2552 สามารถดำรงอยู่ที่ระดับ 5,015 ล้านบาทโดยมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจาก 7.6 เท่าในปี 2551 เป็น 11.1 เท่าในปี 2552 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการเจรจาลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2552 ในขณะที่อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ที่ไม่รวมส่วนเปลี่ยนแปลงของบัญชีเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้และเงินทุนหมุนเวียนอยู่ที่ระดับ 2.1 เท่า ณ เดือนธันวาคม 2552


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ