นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้บวกได้ตามตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน แต่ยอมรับวอลุ่มบาง นักลงทุนยังรอดูความชัดเจนทางการเมืองที่ปลายสัปดาห์นี้จะมีการตัดสินคดียึดทรัพย์ 26 ก.พ. มองกรอบการลงทุนวันนี้ 695-705 จุด
นางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเชียพลัส(ASP) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีแนวโน้มแกว่งตัวกรอบแคบ เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องปัจจัยการเมืองในประเทศ เนื่องจากนักลงทุนรอดูความชัดเจนของปัจจัยการเมืองในประเทศช่วงปลายสัปดาห์จะมีการตัดสินคดียึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่ยังต้องจับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีด้วย
วันนี้ตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับขึ้นไปยืนในแดนบวกได้ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคต่างยืนในแดนบวก ซึ่งน่าจะส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนในประเทศได้บ้าง ส่วนเรื่องการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่านักลงทุนรับข่าวในเรื่องนี้ไปค่อนข้างมากแล้ว โดยมองการเคลื่อนไหวหุ้นวันนี้ให้แนวรับบริเวณ 695 และแนวต้าน 705 จุด
"นักลงทุนรับข่าวเรื่องดอกเบี้ยสหรัฐไปแล้ว ราคาหุ้นก็ดิสเคาน์ลงมากับข่าวไปพอสมควร วันนี้ตลาดหุ้นไทยน่าจะบวกได้หลังจากตลาดเพื่อนบ้านต่างบวกกันไปหมดแล้ว แต่ตลาดหุ้นไทยยังกังวลปัญหาการเมือง คงทำให้วอลุ่มยังบางต่อไป"นางภรณี กล่าว
ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์ควันศุกร์(19 ก.พ.53) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 10,402.35 จุด เพิ่มขึ้น 9.45 จุด (+0.1%) ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 1,109.17 จุด เพิ่มขึ้น 2.42 จุด(+0.2%) และดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 2,243.87 จุด เพิ่มขึ้น 2.16 จุด (+0.1%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 147.58 ล้านบาทเมื่อวันศุกร์
- ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการที่ 79.81 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.75 ดอลลาร์
- นับถอยหลังวันตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องยอมรับว่าภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ชะลอตัวจากช่วงก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันหายไปเกือบ 50% บางวันเหลือไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลพากันเทขายหุ้น และถือเงินสดไว้ เพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมืองที่คาดว่าจะร้อนๆ สุดในวันที่ 26 ก.พ.นี้
- นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธปท. คาดว่าการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ที่เติบโตขึ้นเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามการส่งออกที่ขยายตัว ขณะที่ความกังวลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ของธนาคารพาณิชย์ก็ลดลง โดยเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปี 53 จะเติบโตได้ 10% จากปีก่อน หลังเริ่มเห็นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยับขึ้นชัดเจน ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติเผยนักลงทุนนอกมองพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี แต่ห่วงปัญหาการเมือง หวั่นความรุนแรง บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน ยอมรับการลงทุนภาคเอกชนต่ำกว่าที่คาด จากประเด็นปัญหาการเมือง มั่นใจหากเกิดความรุนแรงแบงก์พาณิชย์รับมือได้ ด้านตลาดหลักทรัพย์ เตรียมออกหนังสือเตือนสตินักลงทุนหากดัชนีรูด 3% พร้อมซ้อมแผนรับมือเน้นเปิดเผยข้อมูลร่วมกับบริษัทจดทะเบียนสัปดาห์นี้
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าพร้อมดูแลสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนก.พ.ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมี.ค.ให้อยู่ในกรอบกติกาของกฎหมาย และจะหลีก เลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพคำตัดสินของศาลฯในคดียีดทรัพย์พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.พ.นี้
- เอกชนลุยแผนธุรกิจ เชื่อไม่มีเหตุรุนแรง"เอกชน" ไม่หวั่นการเมืองร้อน เชื่อรัฐบาลคุมอยู่ แต่ไม่มั่นใจเหตุการณ์หลัง 26 ก.พ. เร่งรัฐสางปมมาบตาพุดก่อนนักลงทุนหนี ท่องเที่ยวชี้ตลาดฟื้นตัวชัด หวังไม่เกิดเหตุรุนแรง กลุ่มโฆษณาชี้ ปัญหาการเมืองอาจฉุดอุตสาหกรรมวูบ แต่กลุ่มสินค้า-บริการ ส่วนใหญ่เดินหน้าตามแผน เชื่อไม่เกิดเหตุรุนแรง เพราะทุกฝ่ายมีบทเรียนจากวิกฤติครั้งก่อน
-"สภาพัฒน์"ยิ้ม จีดีพีโตเกิน 4% รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 4 ปี'52 การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยโตอย่างน้อย 4% ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เติบโต 2.3% ด้านการส่งออกขยายตัว 4.4% และการนำเข้าลดลง 4.8% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยติดลบ 6.4% ติดลบน้อยกว่าช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา
- ธปท.หวั่นการเมืองดุ-ม็อบวุ่นวาย สั่งแบงก์พาณิชย์เช็กสภาพคล่องรับมือคนแห่ถอนเงินนายจาตุรงค์ จันทรังษี ผู้อำนวยการ ฝ่ายตรวจสอบความเสี่ยงและเทคโนโลยีสารสนเทศ สายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีการประเมินผลกระทบทางการเมือง โดยการทำแผนทดสอบจำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น (Street Test) อยู่แล้วหากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองเกิดความวุ่นวายและรุนแรงจริงจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องดูระดับการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงว่ามีเพียงพอรองรับธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 8.5% หรือไม่