ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง 100.97 จุด หลังความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐดิ่งหนัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 24, 2010 06:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ (23 ก.พ.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังอยู่ในภาวะเปราะบาง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 100.97 จุด หรือ 0.97% ปิดที่ 10,282.41 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 13.41 จุด หรือ 1.21% ปิดที่ 1,094.60 จุด และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 28.59 จุด หรือ 1.28% ปิดที่ 2,213.44 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 8.48 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2,113 ต่อ 939 หุ้น

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 100 จุด หลังจากสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยเอกชนของสหรัฐ รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ดิ่งลงสู่ระดับ 46 จุด จากเดือนม.ค.ที่ระดับ 56.5 จุด และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ 55 จุด บ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเรื่องตัวเลขจ้างงานที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต

จำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ.เพิ่มขึ้น 31,000 ราย เป็น 473,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 442,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลง ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดสหรัฐวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานในสหรัฐจะยังคงอยู่ในระดับสูงในอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้ภาคเอกชนของสหรัฐระมัดระวังเรื่องการจ้างงาน และการที่เศรษฐกิจและตลาดจ้างงานสหรัฐจะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้นั้น ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยเฟดคาดว่าอัตราว่างงานในสหรัฐจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 9.5-9.7% ในปีนี้

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากสถาบัน Ifo รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีในเดือนก.พ.ร่วงลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 95.2 จุด จากระดับ 95.8 จุดในเดือนม.ค. เนื่องจากอุณหภูมิที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเฉลี่ยและหิมะที่ตกลงมาอย่างหนักได้ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างและยอดค้าปลีก

นักลงทุนจับตาดูเบอร์นันเก้ที่เตรียมแถลงนโยบายเศรษฐกิจและการเงินต่อสภาคองเกรสในวันพุธและพฤหัสบดีนี้ รวมทั้งชี้แจงเหตุผลของการเตรียมถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน 0.25% เป็น 0.75% เนื่องจากตลาดการเงินและภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2552 ที่ขยายตัวในอัตรา 5.7% ต่อปี ซึ่งทำสถิติขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี

นอกจากนี้ นักลงทุนยังติดตามดูการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนม.ค.,จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขั้นต้นประจำไตรมาส 4 ปี 2552 และรายงานยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ