(เพิ่มเติม) DELTA คาดปี 53 กำไรสุทธิโต 10-11%,สรุปดีลเทคฯ ธุรกิจพลังงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 24, 2010 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) คาดปี 53 กำไรสุทธิเติบโต 10-11% สูงขึ้นจากปีก่อนที่เติบโตในระดับ 9.1% เนื่องจากบริษัทตั้งเป้ายอดขายสูงขึ้น 20-25% จากปีก่อนที่มียอดขาย 2.6-2.7 หมื่นล้านบาทในปีก่อน โดยปีนี้บริษัทมีแผนลงทุน 300-600 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรและประสิทธิภาพการผลิต

นอกจากนั้น ในปีนี้บริษัทยังคาดว่าจะสรุปการเจรจาเข้าซื้อกิจการพลังงานทดแทน 1 ราย พร้อมกับสรุปแผนลงทุนตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ในประเทศอินเดีย ก่อนจะยื่นขอจัดตั้งโรงงานกับทางการอินเดีย

นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริหาร DELTA กล่าวว่า การเติบโตรายได้ในปี 53 จะมาจากธุรกิจในหลายประเทศ หลังจากบริษัทได้ขยายโรงงานและขยายกำลังการผลิตทั้งในยุโรป เอเซีย รวมทั้งที่ สหรัฐ ที่บริษัทได้มีการตั้งโรงงานในปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากยุโรป 40% เอเซีย 30% สหรัฐ 20% และ ที่เหลือ 10% เป็นประเทศอื่นๆ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการสินค้าของลูกค้ามีสูงขึ้น และเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ซัพพลายเออร์มีปัญหาและปิดกิจการไปหลายราย ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้เปรียบ ดังนั้น ภายใต้ดีมานด์ที่มีมากขึ้น จึงประเมินว่าการแข่งขันในปีนี้คงไม่รุนแรงเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ซึ่งยอดขายของบริษัทช่วงดือน ม.ค.-ก.พ.53 มียอดขายเฉลี่ย 90 ล้านดอลลาร์/เดือน ถือเป็นการเติบโตในระดับที่ดี

ขณะเดียวกัน การขยายการลงทุนถือเป็นสิ่งสำคัญ บริษัทจึงเตรียมการเข้าซื้อกิจการด้านพลังงาน คาดว่าในปีนี้น่าจะมีข้อสรุปอย่างน้อย 1 ราย จากที่มีการเจรจากันหลายราย ทั้งในยุโรป แอฟริกา และ เอเซีย โดยเม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อกิจการคงจะต้องรอข้อสรุปก่อน

สำหรับวัตถุประสงค์การซื้อกิจการจะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนยอดขายและวัตถุดิบ โดยเฉพาะขณะนี้บริษัทประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้ต้องหันไปซื้อวัตถุดิบราคาสูงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนวัตถุดิบสูงไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ของผลการดำเนินงาน เนื่องจากบริษัทสามารถปรับราคาสินค้าได้ตามต้นทุนวัตถุดิบ

ปัจจุบัน บริษัทสภาพคล่องค่อนข้างแข็งแกร่ง มีกระแสเงินกว่า 10,000 ล้านบาท มีวงเงินสินเชื่อที่สามารถกู้จากธนาคารพาณิชย์ได้อีก จึงไม่น่ากังวลในการเข้าลงทุนทั้งการสร้างโรงงานใหม่และการเข้าซื้อกิจการ

สำหรับการสร้างโรงงานใหม่ บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจากรัฐบาลอินเดีย เพื่อเปิดโรงงานเพิ่มจากที่มีอยู่แล้ว 1 แห่ง ซึ่งขณะนี้ยังติดเกณฑ์การผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ซึ่งจะขออนุญาตยกเว้นภาษีส่งออก เนื่องจากบริษัทคาดว่าการจัดตั้งงโรงงานแห่งใหม่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาดส่งออกมากขึ้น

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ในปี 53 บริษัทยังเตรียมเงินลงทุน 300-600 ล้านบาท เพื่อการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา(R&D)และปรับปรุงเทคโนโลยี เพื่อช่วยลดต้นทุน รวมทั้งสร้างความสมดุลระหว่างต้นทุนกับความใช้จ่าย ขณะที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีอัตราการผลิตอยู่ที่ 70-80% ยังเพียงพอและสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ