(เพิ่มเติม) SST ซื้อหุ้น 99.7%ใน"อุตสาหกรรมวิวัฒน์"ผู้ผลิตน้ำมันพืช มูลค่า 200 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 24, 2010 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ทรัพย์ศรีไทย (SST) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในบริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 99.7 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 200 ล้านบาท พร้อมทั้งเตรียมจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุนครั้งนี้

ทั้งนี้ SST เป็นผู้เข้าร่วมทุนใหม่ภายใต้แผนปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างบริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด และธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญหลายประการ เช่น บริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และแผนฟื้นฟูกิจการได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลาง

"เราคิดว่า อุตสาหกรรมวัฒน์ จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในปลายปีนี้ และเราจะเข้าไปเพิ่มทุนเข้าไป ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็จะเริ่มรับรู้รายได้ชองอุตสาหกรรมวัฒน์ในปีหน้า..เราเห็นว่า แบรนด์"ทิพ"ยังเป็นที่ยอมรับในตลาดดีอยู่" นายสัมฤทธิ์ ตันติดิลกกุล กรรมการผุ้จัดการ กล่าว

นายสัมฤทธิ์ กล่าวว่า การเข้าซื้อครั้งนี้ เพราะเห็นว่า อุตสาหกรรมวิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตแน้ำมันถั่วเหลือง "ทิพ"ซึ่งเห็นว่าเป็นแบรนด์ที่ดี น่าจะเข้าไปพัฒนาและจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้บริษัทเพิ่มขึ้น ดังนั้นในระหว่างรอการเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟู บริษัทได้ว่าจ้างอุตสาหกรรมวิวัฒน์ผลิตน้ำมันพืช"ทิพ"ต่อไป เพื่อให้ยังมีสินค้าวางขายในตลาดต่อเนื่อง โดยปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 7%

พร้อมกันนั้น SST ยังได้ลงนามในสัญญาโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และฉลาก กับบริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด เพื่อซื้อสิทธิในเครื่องหมายการค้า"น้ำมันพืชทิพ", "น้ำมันพืชทิพ WISE","น้ำมันพืชริน" และ "อาหารสัตว์วิวัฒน์" รวมทั้งสิ้น 11 เครื่องหมาย พร้อมทั้งสิทธิบัตรเกี่ยวกับแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 สิทธิบัตร โดยมีค่าตอบแทนการโอนสิทธิทั้งสิ้น จำนวน 55 ล้านบาท

บริษัทฯ ได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าทั้ง 11 เครื่องหมาย และได้ชำระเงินค่าตอบแทนไปแล้วจำนวน 26,674,949.40 บาท สำหรับค่าตอบแทนส่วนที่เหลือจะชำระเป็นคราวๆ ไป โดยจะชำระให้ครบถ้วนภายใน 90 วันนับแต่วันที่บริษัทฯเข้าถือหุ้นในบริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด

และ บริษัทฯ จะเข้าทำสัญญาว่าจ้างผลิตและจำหน่ายสินค้ากับบริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัดเพื่อว่าจ้างให้ทำการผลิตสินค้าน้ำมันพืชและสินค้าอื่นภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับโอนมา รวมทั้ง มอบหมายให้เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าดังกล่าวด้วย โดย บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขของสัญญากับบริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด

นอกจากนั้น SST ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ "ทรัพย์ศรีไทย" เพื่อโอนคลังสินค้าบางส่วนของบริษัทฯ ให้กองทุนรวมดังกล่าว โดยรายได้จากการจัดตั้งกองทุนรวมจะนำมาใช้เป็นเงินลงทุนในบริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด

นายสัมฤทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงบ่ายนี้ บริษัทจะขอหลักการกับคณะกรรมการบริษัทเพื่อขอจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว โดยจะนำพื้นที่ 10% ของคลังสินค้า ขายเข้าในกองทุน และนอกจากนี้มีแนวทางระดมทุนจากเงินกู้ หรือออกหุ้นกู้

"แนวโน้มการะดมทุนเรามองไว้ทุกแนวทาง ทั้งเงินกู้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือออกหุ้นกู้ โดยวันนี้จะเข้าขอมติจากกรรมการบริษัท ไว้เป็นหลักการก่อน เบื้องต้นเราคิดว่าจะใช้วงเงินเข้าลงทุนอุตสาหกรรมวิวัฒน์ 200 ล้านบาท ในการเข้าไปเพิ่มทุน" นายสัมฤทธิ์ กล่าว

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมวิวัฒน์ ประสบปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน และมีผลขาดทุนสะสมประมาณ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งมีผลขาดทุนตั้งแต่ปี 47 จนปัจจุบัน ขณะที่มีหนี้สิน 1.7 พันล้านบาท และมีทุนจดทะเบียนเพียง 100 ล้านบาท ฉะนั้น มูลค่าทางบัญชีจึงติดลบ แต่มีที่ดินเปล่า 8 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้เชิงสะพานนวลฉวี ซึ่งมองว่าเป็นทรัพย์สินที่ดี

กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการก็จะมีการลดหนี้ลดทุน ซึ่งเมื่อถึงสุดท้าย SST จะเข้าไปเพิ่มทุน และหลังจากออกจากแผนฟื้นฟูฯแล้วบริษัทจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตในระยะแรก 50% ของกำลังการผลิตที่มีอยู่ 900 ตัน/วัน หรือ หากผลิตเต็มกำลังการผลิตจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท/ปี ซึ่งหากในอนาคตรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็คาดว่า SST อาจจะย้ายหมวดธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์

"ถือว่าธุรกิจน้ำมันน้ำมันพืช เป็นธุรกิจปลอดภัย เพราะได้ทั้งสองขา คือใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และ อุตสาหกรรมพลังงาน" นายสัมฤทธิ์ กล่าว

นายปิลัญชัย ประดับพงศ์ รองประธานกรรมการบริหาร SST กล่าวว่า กลุ่มผู้ถือหุ้น SST เป็นกลุ่มเดียวกับ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) เมื่อ SST เข้าลงทุนน้ำมันพืช "ทิพ" เป็นการเกื้อหนุนธุรกิจกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ