บมจ.โกลว์พลังงาน(GLOW)คาดกำไรสุทธิปี 53 เพิ่มขึ้นราว 400-500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.19 พันล้านบาท เนื่องจากในปีนี้จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 115 เมกะวัตต์เข้าระบบจ่ายไฟตั้งแต่ไตรมาส 2/53 ซึ่งเลื่อนมาจากแผนเดิมที่กำหนดไว้สิ้น พ.ย.52 แต่ไม่มีกระทบต่อผลประกอบการ เพราะได้รับค่าปรับจากผู้รับเหมา รวมทั้งปีนี้บริษัทไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า
"ปีนี้เรามั่นใจว่าผลกำไรดีกว่าปีที่แล้วแน่ๆ เพราะเรามีโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะขึ้นใหม่ ขนาด 115 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน อยู่ในมาบตาพุด สร้างจะใกล้เสร็จ ซึ่งเลยกำหนดเวลาเมือสิ้นเดือน พ.ย.52 แต่ผู้รับเหมาจ่ายค่าปรับ และคาดว่าจะเริ่มได้ภายในไตรมาส 2/53 อยู่ระหว่างทดสอบระบบ"นายสุทธิวงศ์ คงสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน GLOW กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
โรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าวจะสามารถทำกำไรเพิ่มได้อีกประมาณ 700 ล้านบาท แต่เนื่องจากปีนี้ลูกค้าซื้อไม่เต็มกำลังการผลิต ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการในมาบตาพุดที่ถูกระงับโครงการไป ทำให้โรงงานที่มีการผลิตต่อเนื่องกับโครงการในมาบตาพุดไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มที่ ทำให้การรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าใหม่ไม่เต็มที่ คาดว่าในปีนี้จะได้กำไรเข้ามาประมาณ 400-500 ล้านบาท
นายสุทธิวงศ์ กล่าวว่า กำไรสุทธิปี 52 ออกมาสูงกว่าปี 51 ตามที่คาดไว้ ซึ่งน่าจะทำให้สามารถจ่ายเงินปันผลได้สูงกว่าปี 51 โดยบริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ
"ที่ผ่านมาเม็ดเงินปันผลยังไม่เคยลดลง เรามีการปรับเพิ่มขึ้นตลอด โดยมีการจ่ายจริงเกินกว่า 50% ของกำไรสุทธิ" นายสุทธิวงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทมีการตั้งเป้าหมายในระยะยาวว่าปี 55 จะสามารถทำกำไรสุทธิได้ราว 7-8 พันล้านบาท ซึ่งจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ครึ่งหนึ่งของกำไร หรือ ราว 4 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่จ่ายอยู่ในวงเงินประมาณ 2.5 พันล้านบาท ดังนั้น อีก 2 ปีข้างหน้าจำนวนเม็ดเงินจ่ายปันผลจะมากขึ้น แต่อัตราส่วนจะเท่าเดิม เพราะผลกำไรเพิ่มขึ้น
ส่วนรายได้ที่จะขึ้นหรือลงไม่มีผลต่อกำไร เพราะขึ้นอยู่กับราคาเชื้อเพลิง แต่กำไรคงที่ได้จากการทำสัญญาซึ้อขายไฟฟ้า ดังนั้น กำไรจะเพิ่มขึ้นได้ต้องมาจากปริมาณขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หมายถึงต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ๆเข้ามา หรือถ้าค่า FT ปรับเพิ่มขึ้นก็จะทำให้รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นด้วย โดย 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ทั้งๆที่ต้นทุนเพิ่ม
ปัจจุบัน บริษัทจะทำสัญญากับลูกค้าประมาณ 15-20 ปี ขณะที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทสไทย(กฟผ.)20-25 ปี
*เตรียมออกหุ้นกู้ 9 พันลบ.เสนอขายราวมี.ค.-เม.ย.
นายสุทธิวงศ์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ วงเงิน 9 พันล้านบาท เสนอขายในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ โดยจะแบ่งเป็น 3 ชุด ได้แก่ อายุ 2 ปี, 7 ปี และ 9 ปี โดยคาดว่าจะออกชุดละ 3 พันล้านบาท เสนอขายให้ทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน
ทั้งนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน (บริษัทถือหุ้น 65%) กำลังผลิต 660 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสร้างเสร็จใน พ.ย.54 และโรงไฟฟ้า SPP(ใช้ก๊าซ)กำลังการผลิต 380 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสร้างเสร็จภายในปี 54
บริษัทคาดว่าอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้คงต่ำกว่าปีที่แล้ว และจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ได้ต่ำกว่าปีก่อนจากเงินกู้ที่มี 9 พันล้านบาท ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ ในปี 54 มีแผนกู้เงินอีก 7 พันล้านบาท ทำให้หลังปี 54 อัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)ของบริษัทจะสูงกว่า 2 เท่าจากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 เท่า
*เตรียมรับมือหาก"เก็คโค่-วัน"ถูกฟ้อง
จากกรณีที่สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนจะยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางให้มีคำสั่งระงับโครงการชั่วคราวเพิ่มอีก 12 โครงการ โดยหนึ่งในนั้นมีโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วันนั้น นายสุทธิวงศ์ กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมตัวรับมือไว้แล้ว โดยได้นำกรณีตัวอย่างโครงการที่ศาลพิจารณาให้เดินหน้าได้ และโครงการที่ศาลไม่ให้เดินหน้าต่อไป มาศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและต่อสู้คดี
เท่าที่บริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าเก็ตโค่-วัน มีความแตกต่า อย่างมากกับโครงการอื่นๆ เนื่องจากเป็นโครงการโรงไฟฟ้า IPP ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เราสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงพลังงานให้ประเทศ เพราะฉะนั้น ไม่ได้เป็นโครงการของเอกชนล้วน ๆ แต่เอกชนลงทุนแทนรัฐบาล เพราฉะนั้นคู่สัญญาของบริษัท คือ กฟผ.หรือภาครัฐ ซึ่งสัญญาลักษณะนี้ก็มีข้อกำหนดชัดเจนว่าถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่ทางรัฐบาลทำให้โครงการล่าช้าหรือเกิดความเสียหายต่อโครงการ ทางภาครัฐก็ต้องเป็นผู้ชดใช้หรือเป็นผู้รับผิดชอบ
"อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง แต่เราก็ต้องหาทางแก้ไขเรื่องกฎหมายเหมือนกับคนอื่นๆ ถ้าหากโดนฟ้องชึ้นมาจริงๆ และก็ได้เห็นแล้วว่าแต่ละรายทำอย่างไรกันบ้าง รายไหนเขาทำอย่างไรถึงหลุดออกมา รายไหนถึงยังติดอยู่ ก็พอเห็นแนวทางที่เราจะต่อสู้ได้บ้าง"นายสุทธิวงศ์ กล่าว