ทริส คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ ITD ที่ “BBB+" แนวโน้ม “Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 26, 2010 10:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนการมีงานในมือที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) จำนวนมาก ความสามารถในการรับงานก่อสร้างได้หลากหลายประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ การดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรโดยขยายสู่การผลิตวัสดุก่อสร้าง รวมถึงนโยบายการลงทุนของภาครัฐในการก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มที่บริษัทจะสามารถลดภาระหนี้ลงได้โดยการขายเงินลงทุนในเขื่อนพลังน้ำน้ำเทิน 2 อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวของบริษัทมีข้อจำกัดบางส่วนจากความเสี่ยงด้านต้นทุนการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่มีลักษณะของสัญญาแบบคงที่ (Fixed-price Contract) ระยะยาว ตลอดจนแรงกดดันในการทำกำไร ลักษณะของธุรกิจที่มีความผันผวนและเป็นวงจรขึ้นลง และภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงและผลประกอบการที่อ่อนแอแม้จะปรับตัวดีขึ้นในหลายไตรมาสที่ผ่านมา อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากบริษัทไม่สามารถปรับปรุงผลประกอบการให้ดีขึ้นและไม่สามารถลดภาระหนี้ได้ตามแผน

ITD เป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สถานะผู้นำตลาดของบริษัทเกิดจากการมีผลงานเป็นที่ยอมรับ สัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน การประหยัดจากขนาด ความสามารถในการผลิตวัตถุดิบสำคัญที่เพียงพอ การมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างที่ครบครัน ตลอดจนการมีวิศวกรและช่างที่มีทักษะสูงจำนวนมาก

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 บริษัทมีรายได้รวม 30,385 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนเกือบ 3 เท่าของรายได้รวมของผู้ประกอบการอันดับสอง ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 9 สายงาน โดยมีสาขาในต่างประเทศ 3 แห่งคือประเทศไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย และมีบริษัทย่อยในต่างประเทศ 4 แห่งในประเทศพม่า อินเดีย อินโดนีเซีย และมาดากัสการ์

แม้ว่ากลยุทธ์ในการขยายธุรกิจก่อสร้างไปในต่างประเทศจะช่วยให้บริษัทมีรายได้ที่เพียงพอในช่วงธุรกิจก่อสร้างในประเทศชะลอตัว แต่กลยุทธ์ดังกล่าวก็เพิ่มความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยให้แก่บริษัทด้วยเช่นกัน

มูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบของกลุ่มบริษัท ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2552 คิดเป็น 97,242 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงโครงการชนะการประมูลที่รอลงนามในสัญญาอีกจำนวน 1,516 ล้านบาท โดยประมาณ 61% ของงานในมือเป็นโครงการที่อยู่ในต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอินเดียและอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ บริษัทยังขยายงานไปสู่ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก คอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป และปูนซีเมนต์ด้วย แม้การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรจะช่วยลดต้นทุนให้แก่บริษัทโดยเพิ่มอำนาจการต่อรองกับผู้จัดหาวัตถุดิบและลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงด้านวงจรธุรกิจของงานรับเหมาก่อสร้างแต่อย่างใด นอกจากนี้ การลงทุนในธุรกิจที่มีต้นทุนสูงเช่นธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ยังส่งผลทำให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเนื่องจากภาระหนี้ในงบการเงินรวมเพิ่มสูงขึ้น

แม้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะมีผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่ก็มีผู้รับเหมาเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เบื้องต้นเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐได้ ดังนั้น โอกาสที่ผู้รับเหมารายใหญ่ที่สุด 3 รายจะชนะการประมูลโครงการภาครัฐจึงมีความเป็นไปได้สูงเพราะมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โครงการระบบขนส่งมวลชนและโครงการเหมืองซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมในด้านเครื่องจักรเป็นอย่างดีน่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทในอนาคตระยะปานกลาง นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะร่วมประมูลในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่เริ่มดำเนินการทั้งในประเทศไทยและอินเดียด้วย

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 บริษัทรายงานผลกำไร 54 ล้านบาทซึ่งเป็นกำไรจากการซื้อหนี้คืนมูลค่า 503 ล้านบาท โดยผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากไม่มีการตั้งสำรองขาดทุนจากการก่อสร้างและไม่มีแรงกดดันด้านกำไรจากการปรับเพิ่มราคาวัสดุก่อสร้าง โดยอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่ายปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 7.3% จาก -0.26% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1,525 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทจึงมีแผนการที่จะลดหนี้โดยการขายเงินลงทุนใน บริษัท ผลิตไฟฟ้าน้ำเทิน 2 จำกัด ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

ณ เดือนกันยายน 2552 ภาระหนี้ของบริษัทซึ่งรวมภาระผูกพันการให้เงินกู้ยืมแก่นิติบุคคลเฉพาะกิจอยู่ที่ 24,247 ล้านบาท ลดลงจาก 25,118 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2551 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 64.5% อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยอยู่ที่ 2.02 เท่า จาก 0.8 เท่าในปี 2551

ทริสเรทติ้ง คาดว่าหลังจากการขายเงินลงทุนเสร็จสิ้น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทน่าจะปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 60% นอกจากนี้ในระยะปานกลาง กำไรของบริษัทน่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากโครงการในมือของบริษัทมีสัดส่วนของโครงการที่มีอัตรากำไรสูงมากขึ้น และบริษัทมีดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงอันเป็นผลจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของโครงสร้างเงินทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ