บมจ.ถิรไทย(TRT) หวังรายได้ปี 53 แค่ขั้นต่ำของเป้าหมาย 2.3-2.5 พันล้านบาท เนื่องจากเกรงว่าจะมีความเสี่ยงจากเอกชนจะชะลอโครงการลงทุนหลังจากเริ่มมีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคาดหวังว่าจะชนะประมูลงานใหม่ 20-30% จากงานทั้งหมดที่เข้าประมูลมูลค่าราว 7-8 พันล้านบาท พร้อมทั้งมองหาธุรกิจกลุ่มใหม่ อย่างกลุ่มพลังงานทางเลือก เนื่องจ กมองว่าธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ามาสุดทางแล้ว
นายสัมพันธ์ วงศ์ปาน กรรมการผู้จัดการ TRT กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทขอมองแบบ conservative ไว้ก่อนในด้านเป้ารายได้ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท เนื่องจากมีปัจจัยแกว่งตัวจากประเด็นทางการเมือง ทำให้ต้องปรับเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 2.3-2.5 พันล้านบาท เพราะเกรงว่าในระยะสั้นเอกชนอาจจะเลื่อนบางโครงการ แต่ในส่วนของภาครัฐน่าจะยังมีการลงทุนตามกำหนด
บริษัทมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเป็นไม่เกิน 40% ในปีนี้ จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 33% เพราะแม้ว่าตลาดในประเทศยังเติบโตได้ แต่ในส่วนของภาคเอกชนยังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะโครงการในมาบตาพุด ที่บริษัทรับงานหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ด้วย ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะเลื่อนออกไปถึงเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าหากเศรษฐกิจในประเทศเติบโตเป็นบวก สุดท้ายแล้วลูกค้าก็คงมีความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่
"ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าถึงแม้จะไม่อิงกับการเมือง แต่ถ้าการเมืองไม่นิ่งก็จะมีผลในแง่ของลูกค้าที่เป็นภาคเอกชนอาจจะชะลอ และมีผลต่อความรู้สึกของผู้ลงทุนในลักษณะของการเลื่อนเวลาออกไป แต่ถ้าภาพรวมประเทศยังมี growth อยู่ ในระยะสั้นก็อาจมีผลกระทบแค่ในปีนี้ ระยะยาวคงไม่มีอะไร"นายสัมพันธ์ กล่าว
สำหรับการเติบโตของบริษัทในปีนี้ขึ้นกับงานที่เข้าประมูล 7-8 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้งานราว 20-30% ส่วนใหญ่จะเริ่มรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลัง และบางส่วนจะส่งมอบในปีหน้า แต่ในครึ่งปีแรกมีงานในมือ(backlog)เดิมที่มีอยู่กว่า 900 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้ในไตรมาส 1/53 ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท ที่เหลือเป็นไตรมาส 2/53
ทั้งนี้ งานที่เข้าประมูลได้แก่ งานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)มูลค่า 1.8-2.0 พันล้านบาท, งานของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นงานหม้อแปลงขนาดใหญ่ 1.6-1.8 พันล้านบาท และหม้อแปลงขนาดเล็ก 150-200 ล้านบาท, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)เป็นงานหม้อแปลงขนาดใหญ่ 1.8 พันล้านบาท และหม้อแปลงขนาดเล็ก 150-200 ล้านบาท งานภาคเอกชนของอุตสาหกรรมใหญ่ 1 พันล้านบาท และ เป็นออร์เดอร์ส่งออก 1 พันล้านบาท
ส่วนงานที่รอส่งมอบแล้ว ได้แก่ กฟผ.200 ล้านบาท กฟภ.133 ล้านบาท งานหม้อแปลงไฟฟ้าของบมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) 114 ล้านบาท งานของ บมจ.โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น(TTCL)31 ล้านบาท และ ออร์เดอร์ส่งออกไปยังสิงคโปร์ 109 ล้านบาท เป็นต้น
นายสัมพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังมองหาธุรกิจอื่น โดยยังเน้นด้านพลังงาน บริษัทสนใจจะเป็นซัพพลายเออร์ของโรงไฟฟ้า หรือพลังงานทางเลือก ซึ่งอยู่ในขั้นการศึกษาวิจัยตลาด น่าจะได้เห็นความชัดเจนในปีหน้า อาจจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตร
ปัจจุบัน บริษัทยังไม่ได้เตรียมงบลงทุนไว้สำหรับธุรกิจใหม่ แต่ยังมีวอร์แรนต์อีก 50% ของ 70 ล้านหน่วย ที่จะครบกำหนดแปลงสภาพทั้งหมดในกลางปี 55 กำหนดราคาใช้สิทธิ 3 บาท/หุ้น น่าจะเป็นจังหวะที่สอดคล้องกับการลงทุน และเชื่อว่าผู้ถือหุ้นจะมาใช้สิทธิแปลงสภาพ เพราะบริษัทมีโครงการลงทุนชัดเจน ส่วนแผนการลงทุนในจีน น่าจะเป็นปี 55 ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่ม
"มองว่าธุรกิจหม้อแปลงมันมาสุดทางตามเป้าหมายแล้ว แต่ก็ยังพอเดินต่อไปได้ แต่อาจจะไม่ก้าวกระโดด จำเป็นต้องหารายได้ทางอื่นเข้ามาเสริม"นายสัมพันธ์ กล่าว
ด้านการลงทุนในปีนี้ตั้งงบไว้ 50-100 ล้านบาทในธุรกิจเดิม ซึ่งเป็นงบลงทุนปกติ