บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เชื่อผลประกอบการในปี 53 จะพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ จากที่ขาดทุนถึง 394.84 ล้านบาทในปี 52 เนื่องจากในปีนี้บริษัทมีภาระการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามมาตรฐานใหม่ลดลงจากปีก่อนที่มีการตั้งสำรองฯ ถึง 1.2 พันล้านบาท โดยบริษัทเหลือภาระที่ต้องตั้งสำรองฯ ราวปีละ 200-300 ล้านบาทจนถึงปี 55
หุ้น KTC เช้านี้ร่วงลง 14.63% มาที่ 10.50 บาท ลดลง 1.80 บาท เมื่อเวลา 10.43 น. หลังจากรายงานว่าปี 52 มีผลขาดทุน 394.84 ล้านบาท จากปีก่อนที่กำไร 616.75 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทชี้แจงว่าได้นำนโยบายการบัญชีเกี่ยวกับภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีมาใช้สำหรับงบการเงินสำหรับปี 52 โดยปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 12 ภาษีเงินได้ ฉบับปรับปรุงปี 51 (IAS No.12 "Income Taxes"(revised 2008)) ซึ่งบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน 286 ล้านบาท แต่หลังการปรับปรุงรายการมีผลขาดทุน 395 ล้านบาท
นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าวว่า ในปี 52 บริษัทมีฐานะการเงินที่มั่นคง และมีความพร้อมที่จะปฎิบัติตามมาตรฐานใหม่ในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หลังจากได้มีการศึกษาเรื่องนี้มากว่า 2 ปี โดยได้มีการเปลี่ยนวิธีประมาณการกันสำรอง ด้วยการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้ทุกประเภทที่ผิดนัดชำระตั้งแต่ 90 วันเต็มจำนวน 100% จากเดิมจะตั้งสำรองลูกหนี้ผิดนัดชำระ 180 วัน โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อรองรับการดำเนินการตามมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ IAS 39 ที่จะนำมาใช้กำกับดูแลสถาบันการเงินในปี 56
นอกจากนี้บริษัทยังนำนโยบากยารบัญชีเกี่ยวกับภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีมาใช้ โดยยึดถือตามมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 12 ฉบับปรับปรุงปี 51
นายนิวัตต์ กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทมีการตั้งสำรองฯ จำนวนมากในปี 52 ทำให้ขาดทุนเป็นปีแรกตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่มั่นใจว่าในปี 53 ผลประกอบการจะกลับมาพลิกเป็นกำไรได้ แม้ว่าการเติบโตของรายได้อาจจะไม่สูงแต่จะเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป อัตราการเติบโตของรายได้จากนี้ไปจะเป็นเลขหลักเดียวเท่านั้น
"เราทำให้หนักในปีเดียว แล้วปีต่อมาก็น่าจะกำไรได้ เพราะหากเราขาดทุนติดต่อกัน 3 ปี เราก็ต้องถูก delete ออกจากตลาด แต่เรายังมั่นใจว่ายังมีความสามารถในการทำกำไรได้อยู่ หากเศรษฐกิจไม่เปลี่ยน...หากเราลงหนักในปีเดียวคือปี 2013 จะกระทบต่อบริษัทหนักแน่ นักลงทุนก็คงเทขายหุ้นหมด แต่เราเลือกที่จะทยอยทำใน 3 ปี" นายนิวัตต์ กล่าว
นายนิวัตต์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการออกหุ้นกู้ จำนวน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะทยอยครบกำหนดไถ่ถอนในปี 53-54 จำนวน 20,000 ล้านบาท โดยจะเสนอขายหุ้นกู้ปีละ 10,000 ล้านบาท ทยอยออกครั้งละ 2,000-3,000 ล้านบาท งวดแรกจะออกภายในไตรมาส 1/53 วงเงิน 2,000 ล้านบาท
สำหรับแผนธุรกิจในปี 53 จะไม่เน้นเพิ่มจำนวนบัตรเครดิตจำนวนมาก และไม่เน้นการแข่งขันด้านราคา แต่จะเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีความสามารถในการชำระหนี้ตรงเวลา เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อ เฉลี่ย 3 ปี (ปี 53-55) เติบโต 4-5%
นายนิวัตต์ กล่าวว่า ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนบัตรเครดิตใหม่ 200,000 ใบ ลดลงจากปีก่อนที่มียอดบัตรเครดิตใหม่ 220,000 ใบ และจะลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ลงเหลือ 3% จากสิ้นปี 52 อยู่ที่ 3.9% ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(NIM)ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 13.5-13.6% จากสิ้นปี 52 อยู่ที่ 13.7% เนื่องจากดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนการเงิน แต่บริษัทยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายอื่นได้
นอกจากนี้ บริษัทยืนยันว่า บริษัทยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากยังมีสภาพคล่องอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 7 เท่า สะท้อนว่าว่าบริษัทยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
"ปี 53 จะเป็นปีที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ ลูกค้าที่มีเงินเดือนประจำ ข้าราชการ คนทำงานไฟแนนซ์ หลีกเลี่ยงกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ" นายนิวัตต์ กล่าว