บมจ.บ้านปู(BANPU)เตรียมงบลงทุน 96 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้งบลงทุนในแผนกลยุทธ์ระยะยาววงเงิน 466 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในการพัฒนาเหมืองถ่านหินบารินโต พัฒนาเหมืองถ่านหินใต้ดินที่เหมืองอินโดมินโค และทรูบาอินโด รวมทั้งขยายท่าเรือบอนตัน การก่อสร้างสายพานขนถ่านหินของเหมืองอินโดมินโค รวม 75 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่เหลือ 21 ล้านเหรียญสหรัฐจะใช้พัฒนาเหมืองถ่านหิน 2 แห่งประเทศจีนที่เมืองเกาเหอและเฮ่อปี้
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายการผลิตและจำหน่ายถ่านหินจากอินโดนีเซีย 23 ล้านตัน สูงขึ้นจาก 21 ล้านตันในปี 52 โดยปริมาณถ่านหินที่เพิ่มขึ้นมาจากแหล่งถ่านหินใหม่ 2 จุด คือ พื้นที่ผลิตทางตะวันออกของเหมืองอินโดมินโคและพื้นที่ทางทิศใต้ของเหมืองทรูบาอินโด นอกจากนี้ ยังมีการผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นจากเหมืองบารินโต ซึ่งจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ปลายปีนี้ 2 แสนตัน
ส่วนในจีน เหมืองเกาเหอ ซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินใต้ดินในมณฑลซานซี มีกำหนดแล้วเสร็จและเริ่มผลิตถ่านหินในไตรมาส 2/53 ที่ประมาณ 1.5 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้จำนวนผลผลิตถ่านหินในจีนของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเป็น 3 ล้านตัน จากปีก่อน 2.8 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณขายถ่านหินในปีนี้จะเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าราคาขายเฉลี่ยของบริษัทจะปรับลดลงจากปีก่อนที่มีราคาเฉลี่ย 71.7 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็นผลจากราคาตลาด โดยบริษัทได้ขายถ่านหินกำหนดราคาแล้วประมาณ 50% และจะทยอยกำหนดราคาตามการตกลงกับลูกค้าในส่วนที่เหลือของปี คาดว่าราคาถ่านหินในตลาดโลกจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
"จากการที่ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของปีนี้จะต่ำกว่าปี 52 ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น คาดว่ารายได้จากการขายรวมในปีนี้จะทั้งธุรกิจถ่านหินและไฟฟ้าจะใกล้เคียงกับปีก่อน ประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า BLCP ในปีนี้ลดลง ซึ่งเป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า"นายชนินท์ กล่าว
ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของพลังงานทางเลือก 2-3 ชนิด เช่น พลังงานชีวมวล พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ คาดว่าน่าจะได้เห็นการลงทุนของบริษัทฯ ในโครงการพลังงานทดแทนภายในปีนี้ โดย ตามแผนการลงทุนในระยะ 6 ปี จะเป็นการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน 2% ของงบลงทุนทั้งหมด
นายชนินท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนการขายถ่านหินเหลืออยู่ 47% หลังจากที่มีการขายล่วงหน้าแล้ว จึงคาดว่า ราคาขายจะอยู่ที่ 65-72 ดอลลาร์/ตัน และอาจทำให้ราคาขายถ่ายหินเฉลี่ยทั้งปี 53 จะอยู่ใกล้เคียงปี 52 ที่ 71.7 ดอลลาร์/ตัน
"ตอนนี้เหลืออยู่ 47% เราต้องการขายในราคาที่ดี เราเชื่อว่า ราคาซื้อขายจะแข็งแกร่งดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 3-4 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ราคาเฉลี่ยทำได้ใกล้เคียงปี 52 หรือลดลงไม่มาก" นายชนินท์ กล่าว
สำหรับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ยอมรับว่ามีผลต่อรายได้ โดยการจัดทำประมาณการรายได้ของบริษัทปีนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานที่เงินบาทอยู่ที่ 32.50-33 บาท/ดอลลาร์ จากปีก่อนที่เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 33.30 บาท/ดอลลาร์
ส่วนแผนลงทุนเพื่อการซื้อกิจการในช่วง 6 ปี (ปี 53-58) มีเป้าหมายที่ประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มีโอกาสเข้าทำธุรกิจถ่านหินได้มาก รวมถึงจีน ที่อาจเข้าไปขยายการลงทุนบ้าง โดยการลงทุนเข้าซื้อกิจการยังไม่รวมอยู่ในงบลงทุนรวมในช่วง 6 ปี ที่ตั้งงบไว้ที่ 466 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเดิมมีเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุนเหมืองถ่านหิน แต่ขณะนี้มองว่ารัฐบาลอินเดียมีความล่าช้าในขั้นตอนทางกฎหมาย และเข้มงวดในธุรกิจดังกล่าว จึงคิดว่ามีโอกาสยากในการเข้าขยายงาน
นายชนินท์ กล่าวว่า งบลงทุนระยะ 6 ปี นอกเหนือจากที่จัดเตรียมไว้ บริษัทยังมีความสามารถกู้เงินได้เพิ่มอีก 60,000 ล้านบาท ภายใต้เป้าหมายที่ อัตราหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.24 เท่า หรือมีหนี้สินสุทธิ 10,000 กว่าล้านบาท
สำหรับการจ่ายเงินปันผลปี 53 บริษัทมีนโยบายที่จะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ และยึดนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50%ของกำไรสุทธิ แม้ว่าปีนี้จะต้องกันเงินสำรองจากกำไรสุทธิเพื่อลงทุนก็ตาม โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 51-52) บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น 30% โดยปี 51 จ่ายปันผล 12 บาท/หุ้น และ ปี 52 จ่ายปันผล 16 บาท/หุ้น และคาดว่าปี 53 หากผลประกอบการดีขึ้น มีแนวโน้มจะจ่ายปันผลได้ไม่ต่ำกว่าปีก่อน
นางสาวสมฤดี ชัยมงคล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-การเงิน BANPU กล่าวว่า ในปีนี้การผลิตถ่านหินในจีน มีปริมาณมากขึ้นจาก 2.8 ล้านตัน เป็น 3 ล้านตัน ซึ่งเป็นขายผลิตและขายในจีน อีกทั้งแนวโน้มราคาขายถ่านหินที่ยังดีอยู่ เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้กำไรของบริษัทในงบการเงินรวมดีขึ้นด้วย
ส่วนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหงสา ขนาด 1,800 เมกกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้น 40% จะลงทุน 400 ล้านดอลลาร์ โดยจะทยอยลงทุนในช่วงปี 57-58 จำนวน 255 ล้านดอลลาร์ และส่วนที่เหลือจะทยอยลงทุนในปี 59-60 ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงครึ่งแรกปี 58 และจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 58 ทันที ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหงสา จะมีการจัดหาแหล่งเงินกู้ให้แล้วเสร็จในไตรมาส 3/53