บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ“AA"จาก“AA-" ด้วยแนวโน้ม“Stable"หรือ“คงที่"โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ตลอดจนความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารที่กำลังเติบโต และฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง
ทั้งนี้ การเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และมีคณะผู้บริหารที่มากประสบการณ์ช่วยเอื้อให้บริษัทได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวลดลงบางส่วนจากผลกระทบของภาวะการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งจากอุปสงค์การบริโภคเบียร์ที่อ่อนตัวลง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง และความเสี่ยงด้านกฎหมายที่อาจบั่นทอนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แนวโน้มอันดับเครดิต“Stable"หรือ“คงที่"สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ต่อไปและจะรักษาสมดุลของส่วนแบ่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เบียร์ได้เป็นอย่างดี โดยไม่ทำให้การทำกำไรโดยรวมของบริษัทลดลง การลงทุนหรือการซื้อกิจการใดใด(ถ้ามี)ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจของบริษัท นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษานโยบายทางการเงินที่เข้มงวดและรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในระดับสูงเอาไว้ตลอดเวลา
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ในกลุ่มจำนวน 98 แห่งซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งสุรา(สุราขาวและสุราสี) เบียร์ เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ อาหาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทในแต่ละหมวดหมู่มีตราสัญลักษณ์สินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี เช่น“รวงข้าว" สำหรับสุราขาว “แสงโสม" “หงส์ทอง" และ “เบลนด์ 285" สำหรับสุราสี “ช้าง" สำหรับเบียร์ นอกจากนี้ยังมีชาเขียวและเครือภัตตาคารภายใต้ชื่อ “โออิชิ"
ไทยเบฟเวอเรจ เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่รายหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าอีโคโนมี่หรือสินค้าราคาประหยัด ปัจจุบัน สินทรัพย์ของบริษัทประกอบด้วยโรงกลั่น 18 แห่งและโรงเบียร์ 3 แห่งในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์ และอีก 1 แห่งในประเทศจีน ซึ่งบริษัทเพิ่งซื้อกิจการมาใหม่
บริษัทมีกำลังการผลิตภายในประเทศต่อปีในผลิตภัณฑ์เบียร์ที่ระดับ 1,550 ล้านลิตรและสุราที่ 819 ล้านลิตร การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและมีอำนาจต่อรองในการซื้อวัตถุดิบ ซึ่งส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีราคาขายที่แข่งขันได้ ยิ่งกว่านั้น ระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศยังมีส่วนเสริมให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายของบริษัทประกอบด้วยตัวแทนจำหน่าย 753 ราย พนักงานขายกว่า 1,000 คน และรถขนส่งสินค้ากว่า 4,000 คันซึ่งรองรับร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ
ไทยเบฟเวอเรจ ครองตำแหน่งผู้นำในตลาดสุราเนื่องจากคู่แข่งรายอื่นๆ ล้วนเป็นผู้ผลิตในระดับท้องถิ่นที่มีฐานการผลิต ขนาดเล็ก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้านั้นก็มีราคาสูงและเน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม ส่วนในตลาดเบียร์นั้น บริษัทเป็นหนึ่งในผู้แข่งขันหลัก 2 รายในตลาดเบียร์ไทย โดยคู่แข่งสำคัญของบริษัทคือกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ซึ่งดำเนินธุรกิจมานานภายใต้ตราสัญลักษณ์สินค้า “สิงห์" ทั้งบริษัทไทยเบฟเวอเรจและกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันมากกว่า 90% ของตลาดเบียร์รวม บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และอาหารในปี 2551 ซึ่งธุรกิจดังกล่าวมีโอกาสเติบโตสูงถึงแม้ในปัจจุบันยังมีสัดส่วนรายได้ไม่มากก็ตาม
ทริสเรทติ้ง กล่าวว่า แม้จะมีผู้ผลิตหลักเพียง 2 ราย แต่ตลาดเบียร์ไทยก็มีการแข่งขันที่รุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายและลักษณะพื้นฐานของสินค้าราคาประหยัดที่มีความอ่อนไหวด้านราคา เศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2551 และราคาเบียร์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2552 เป็นผลทำให้การบริโภคเบียร์โดยรวมในประเทศลดลงไป 4.3% ในปี 2551 และลดลงไปอีก 11.7% ในปี 2552 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ติดลบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา
ในทางกลับกัน การบริโภคสุราโดยรวมเติบโตเฉลี่ยที่ประมาณ 6.3% ต่อปีในช่วงปี 2551-2552 จากที่ในอดีตเติบโตที่ระดับ 2.5%-3.5% ต่อปีระหว่างปี 2548-2550 ผลจากการขึ้นภาษีสรรพสามิตในเดือนพฤษภาคม 2552 ทำให้ราคาขายของเบียร์และสุราเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันผู้บริโภคได้เปลี่ยนความนิยมจากการดื่มเบียร์ไปเป็นการดื่มสุราแทน เนื่องจากเบียร์มีราคาแพงกว่าสุราเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าต่อระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์
ฐานะทางการเงินของบริษัทไทยเบฟเวอเรจมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมากอันเป็นผลมาจากความสามารถในการทำกำไรที่แน่นอน ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่เข้มแข็ง ภาระหนี้สินที่ลดลง และระดับสภาพคล่องที่มีเพียงพอ บริษัทรายงานยอดขายที่ระดับ 105,452 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 และ 107,969 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 โดยคิดเป็นระดับการเติบโตที่ 2.4% ยอดขายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากการเติบโตของยอดขายสุราที่ระดับ 12.6% ในปี 2551 และ16.6% ในปี 2552 เป็นสำคัญแม้ยอดขายเบียร์จะลดลง 19.1% และ 21.5%
ในช่วงเดียวกัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ที่ประมาณ 18%-21% ระหว่างปี 2549-2552 โดยสุราเป็นสินค้าหลักที่ทำกำไร
บริษัทยังมีเงินทุนจากการดำเนินงานต่อปีเกินกว่า 14,000 ล้านบาทในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาและมีหนี้สินในระดับต่ำ โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในช่วง 22%-24% ในระหว่างปี 2550-2551 และ 17.5% ณ สิ้นปี 2552 หนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นหนี้สินระยะสั้น ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 81.5% ในปี 2551 และ 123.4% ในปี 2552
อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศยังคงเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่าตลาดจะเติบโตไม่มากเนื่องจากกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งได้แก่ การขึ้นภาษีสรรพสามิต การจำกัดการโฆษณา และมาตรการลดการจำหน่ายมีผลทำให้ความต้องการในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง