หุ้น ADVANC ปรับลดลงมาที่ 75.00 บาท ลดลง 1.75 บาท (-2.28%)มูลค่าซื้อขายสูงสุด 450.96 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.28 น. เปิดที่ 78.00 บาท สูงสุดที่ 78.00 บาท และต่ำสุดที่ 75.00 บาท
หุ้น ADVANC เช้านี้ร่วงต่อ 2.28% หลังร่วงแรงกว่า 5% เมื่อวันศุกร์(5 มี.ค.)ทั้งจากความกังวลการขยายผลจากคดียึดทรัพย์ฯ แล้วยังมีข่าวลือจะไม่จ่ายเงินปันผล และอาจถูกอายัดทรัพย์สินเหมือนกับการพิจารณาคดีอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่ช่วงเย็นบริษัทออกมายืนยันการจ่ายเงินปันผลตามกำหนด และโบรกฯ เตือนไม่ควรกังวลเกินไป
บทวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน ระบุว่า นักลงทุนไม่ควรกังวลเกินไป เพราะ ADVANC ยืนยันการจ่ายเงินปันผล ส่วนการอายัดทรัพย์สินของบริษัทฯ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งศาลเป็นข้อยุติให้บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เรายังคงมุมมองว่าการขยายผลคดีฯ จะไม่รุนแรงถึงขั้นยึดสัญญาฯ จาก 5 เหตุผล แต่การตรวจสอบต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่ง “กรณีแย่สุด" อาจต้องยุติในชั้นศาล
เราประเมินความเสี่ยงจากการขยายผลคดีฯ อิงกรอบคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ อาจทำให้ ADVANC มีต้นทุนส่วนเพิ่ม และกระทบต่อมูลค่าหุ้น เป็น 3 กรณี “กรณีแย่สุด" ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ Prepaid ตั้งแต่ปี 2544-58 และชดเชยส่วนต่างจากการหักภาษีสรรพามิต 10% จะกระทบมูลค่าหุ้นลดลง 34% จากมูลค่าเหมาะสมปัจจุบัน จึงเห็นว่าราคาหุ้นกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะถูกกดดันด้วยความเสี่ยงด้านการถูกปรับเงื่อนไขสัญญาฯ จนกว่าจะมีความชัดเจน และได้ข้อยุติเป็นที่สุด
เราเชื่อว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้น ADVANC (SHIN ถือหุ้นใหญ่ 42.7%) จะอนุมัติจ่ายเงินปันผลตามมติบอร์ดฯ เนื่องจากบริษัทฯ มีกระแสเงินสดกว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีสภาพคล่องส่วนเกินสูง หลังจากไม่จำเป็นต้องลงทุนขนาดใหญ่ (3G บนคลื่น 2100 MHz) นักลงทุนจึงไม่ควรกังวลเกินไปเกี่ยวกับประเด็นการไม่จ่ายเงินปันผล
รวมทั้งประเด็น ADVANC อาจถูกอายัดเงินเหมือนกับการพิจารณาคดีอดีตนายกฯ ทักษิณ หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงการแก้ไขสัญญาฯ โดยเราได้รับคำยืนยันจาก ADVANC ว่าการอายัดทรัพย์สินของบริษัทฯ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งศาลที่เป็นข้อยุติให้บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
การประเมินว่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นยึดสัญญาฯ เพราะ 1. การแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ “แตกต่าง" จากกรณี ITV เพราะการแก้ไขสัญญา ITV อ้างอิงคำวินิจฉัยคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐคู่สัญญา และ ผลประกอบการ ITV ขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดในปี 2543 ถึงปี 2546 และค้างชำระค่าสัมปทานกว่า 2,000 ล้านบาท ต่างจากกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ไม่ได้ค้างชำระค่าสัมปทาน
2. หน่วยงานรัฐคู่สัญญาฯ โทรศัพท์เคลื่อนที่(TOT/CAT)ในเวลานั้น เห็นชอบให้ดำเนินการได้ โดยผ่านขั้นตอนทั้งคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการร่วมมาตรา 22 ฉะนั้นบริษัทเอกชนรับสัมปทานฯ ไม่ควรต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียว 3. กลางปี 50 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ มีความพยายามแก้ไขสัญญาฯ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความไว้ โดยให้ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐกับเอกชนคู่สัญญาตามมาตรา 22 เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน พร้อมระบุไม่รุนแรงถึงขั้นยึดสัญญาฯ
4. บริษัทเอกชนรับสัมปทานฯทุกรายยืนยันปฏิบัติตามสัญญาฯทุกประการ พร้อมรับการตรวจสอบ-ชี้แจ้งต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และ 5. หากยึดสัญญาฯ หน่วยงานรัฐ/รัฐบาล ต้องชี้แจ้งได้ว่าบริษัทเอกชนรับสัมปทานฯ ทำผิดสัญญาฯ อะไร โดยไม่ผ่านการเห็นชอบของหน่วยงานรัฐคู่สัญญา เราเชื่อว่ารัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ จะดำเนินการภายใต้หลักกฎหมาย และเปิดโอกาสให้เอกชนรับสัมปทานชี้แจ้งข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม
ส่วนการตรวจสอบการแก้ไขสัญญาฯ ต้องใช้เวลา กรณีแย่สุดอาจต้องยุติในชั้นศาล โดยกลางสัปดาห์ก่อน รมว.ไอซีทีระบุว่าจะมีการดำเนินการหลังมีผลตัดสินคดียึดทรัพย์ โดย 2 ใน 3 ประเด็นเกี่ยวข้องกับสัญญาฯโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต และการแก้ไขสัญญาฯกรณีปรับลดส่วนแบ่งรายได้ Prepaid และการหักค่าใช้จ่าย Roaming ออกจากรายได้รวมก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้
กระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีแก้ไขสัญญาฯ ในอดีต โดยจะนำข้อมูลการตรวจสอบการแก้ไขสัญญาฯ ของ TOT/CAT จำนวน 10 สัญญา ที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการก่อนหน้าตามมติที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อปลายปี 52 มาพิจารณาด้วย แต่จะขอยืดระยะเวลาออกไปอีก 90 วัน นับจากกลาง เดือน มี.ค.นี้ ซึ่งครบกำหนด 90 วัน ตามกรอบเวลาที่ครม.เศรษฐกิจมีมติให้ตรวจสอบ
เราเห็นว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงการแก้ไขสัญญาฯ ต้องใช้เวลา และมีแนวโน้มยืดเยื้อ หากเทียบเคียงกรณีข้อพิพาท Access charge
โดยสรุป เห็นว่า “กรณีแย่สุด"หากการตรวจสอบการแก้ไขสัญญาฯ ระบุว่าภาครัฐเสียประโยชน์ จากนโยบายของอดีตนายกฯ ทักษิณ การให้บริษัทเอกชนรับสัมปทานฯชดเชยความเสียหาย จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อหน่วยงานรัฐฯต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล และมีคำสั่งศาลเป็นข้อยุติ เราเห็นว่าราคาหุ้นกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะถูกกดดันด้วยความเสี่ยงด้านการถูกปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาฯ จนกว่าผลการตรวจสอบการแก้ไขสัญญาฯ จะมีความชัดเจน และได้ข้อยุติจนเป็นที่สุด
ความเสี่ยงจากการขยายผลคดีฯ ต่อมูลค่าหุ้นประเมิน แบ่งเป็น 3 กรณี
ตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ ระบุถึง การแก้ไขสัญญาฯ ของ ADVANC ซึ่งเป็นผลของการดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่ม SHIN จำนวน 2 ครั้ง จากที่มีการแก้ไขสัญญาฯ ทั้งหมด 7 ครั้ง และมติครม. ปี 2546 ให้เอกชนแปลงส่วนแบ่งรายได้เป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้ TOT/CAT มีส่วนแบ่งรายได้ลดลง
เราเห็นว่า การแปลงส่วนแบ่งรายได้เป็นภาษีสรรพสามิต จะมีผลกระทบต่อมูลค่าหุ้น “น้อยกว่า"การปรับลดส่วนแบ่งรายได้ เนื่องจากกลางปี 50 รัฐบาลฯ พลเอกสุรยุทธ์ มีมติกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 0% จากเดิม 10% เพื่อแก้ไขการจ่ายภาษีสรรพสามิตให้ถูกต้อง และไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภค จากการผลักภาระภาษีของผู้ให้บริการ ทำให้มีระยะเวลาความเสียหายเกิดขึ้นประมาณ 4 ปี (กลางปี 46 - กลางปี 50)
อย่างไรก็ตาม เราประเมินความเสี่ยงจากการขยายผลคดีฯ อิงกรอบคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ ทำให้ ADVANC จะมีต้นทุนส่วนเพิ่ม และกระทบต่อมูลค่า แบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 เฉพาะการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ Prepaid ตามเดิม
ต้นทุนส่วนเพิ่ม ผลกระทบต่อมูลค่าหุ้น มูลค่าเหมาะสม
(ล้านบาท) (บาท/หุ้น) หลังรวมความเสี่ยง* จ่ายส่วนแบ่งรายได้ Prepaid ตั้งแต่ปี 2553-58 37,053 12.51 85 บาท จ่ายส่วนแบ่งรายได้ Prepaid ตั้งแต่ปี 2544-58 63,876 21.57 77 บาท หมายเหตุ * มูลค่าเหมาะสมหลังรวมความเสี่ยง คำนวณโดยการหักออกจากมูลค่าเหมาะสม ADVANC ปัจจุบันที่ 98 บาท
กรณีที่ 2 จ่ายส่วนแบ่งรายได้ Prepaid ตั้งแต่ปี 2553-58 และต้องชดเชยส่วนต่างจากการหักภาษีสรรพามิต 10%
ต้นทุนส่วนเพิ่ม ผลกระทบต่อมูลค่าหุ้น มูลค่าเหมาะสม
(ล้านบาท) (บาท/หุ้น) หลังรวมความเสี่ยง* จ่ายส่วนแบ่งรายได้ Prepaid ตามเดิม ตั้งแต่ปี 2553-58 37,053 12.51 74 บาท ส่วนต่างจากการหักภาษีสรรพามิต 10% ปี 2546-50 35,402 11.95 74 บาท
กรณีที่ 3 จ่ายส่วนแบ่งรายได้ Prepaid ตั้งแต่ปี 2544-58 และต้องชดเชยส่วนต่างจากการหักภาษีสรรพามิต 10%
ต้นทุนส่วนเพิ่ม ผลกระทบต่อมูลค่าหุ้น มูลค่าเหมาะสม
(ล้านบาท) (บาท/หุ้น) หลังรวมความเสี่ยง* จ่ายส่วนแบ่งรายได้ Prepaid ตั้งแต่ปี 2544-58 63,876 21.57 65 บาท ส่วนต่างจากการหักภาษีสรรพามิต 10% ปี 2546-50 35,402 11.95 65 บาท