นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน คาดว่าในปีนี้น่าจะนำโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ หลังจากที่เลื่อนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มาจากปีก่อน
โดยจะมีการนำเสนอใน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้พิจารณาอนุมัติขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากที่ กพช.อนุมัติขั้นตอนแล้ว ก็จะมีการแก้ไขสัญญาในเรื่องการเปลี่ยนชื่อบริษัทของผู้ถือหุ้นทั้งสอง คือ บมจ.ปตท. (PTT) และบริษัท เชฟรอน เพื่อแก้ไขสัญญาในการเปลี่ยนชื่อผ้ถือหุ้นจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มาเป็น PTT และบริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟเนอร์นิ่ง จำกัด เป็นบริษัท เชฟรอนประเทศไทย จำกัด และมีการแก้ไขสัญญาในเรื่องกรณีเกิดข้อพิพาทให้ใช้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด
หลังจากนั้นก็จะมีการเซ็นสัญญาข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้น (Share Holder Agreement) ระหว่าง ปตท. กับเชฟรอน เพื่อกำหนดสาระสำคัญในการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ วิธีในการกระจายหุ้นเข้าในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะใช้วิธีใด และจะดำเนินการเมื่อไร และสัดส่วนระหว่าง PTT กับ เชฟรอน ภายหลังจากการกระจายหุ้นแล้วจะลดลงเหลือเท่าไร
ซึ่งในเบื้องต้นจะมีการนำหุ้นเดิมออกมาขาย แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่ จากปัจจุบัน เชฟรอน ถือหุ้นในโรงกลั่น 64% และ ปตท. 36%
ทั้งนี้ โรงกลั่นสตาร์จะเป็นโรงกลั่นสุดท้ายที่จะต้องนำเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามนโยบายรัฐบาลที่จะต้องให้โรงกลั่นน้ำมันทุกโรงตอ้งกระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อมีผลการดำเนินงานที่มีกำไรแล้ว และต้องกระจายหุ้นในประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสถือหุ้นในโรงกลั่นด้วย