โบรกฯหนุน"ซื้อ"TCAP มองควบรวม TBANK-SCIB เป็นผลดีในระยะยาวในปี 54-55

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 12, 2010 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ส่วนใหญ่แนะ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ทุนธนชาต(TCAP)หลังเป็นผู้ชนะการประมูลซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทย(SCIB) จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน รับผลดียกฐานะเป็นแบงก์ใหญ่ พร้อมปรับสถานะเป็น Universal Banking แม้ว่าส่วนใหญ่มอง TCAP อาจยังไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการเทคโอเวอร์ SCIB เพราะต้องมีกระบวนการควบรวมกิจการเข้ากับ ธ.ธนชาต(TBANK) และต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างองค์กร โดย TCAP จะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการซื้อหุ้น SCIB ในปี 54-55

สำหรับการทำกำไรของ TCAP ในปีนี้จะมาจากการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อเป็นหลัก คาดว่ากำไรอาจจะลดลงเนื่องจากไม่มีรายได้พิเศษเหมือนปีก่อน แต่อาจมีการรับรู้กำไรจากการถือหุ้น SCIB ได้แล้วหลังการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์

          โบรกเกอร์         คำแนะนำ        ราคาเป้าหมาย(บาท)
          บล.กรุงศรีฯ       ซื้อเก็งกำไร         24.30
          บล.ฟิลลิป           ซื้อ              28.00
          บล.ไอร่า           ซื้อ              23.00
          บล.กิมเอ็ง        ซื้อเก็งกำไร         23.70

นายธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังจาก TCAP ชนะการประมูลซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทย(SCIB)จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในราคาหุ้นละ 32.50 บาท แล้ว ยังคงต้องใช้เวลาในกระบวนการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ รวมถึงการรวมกิจการของธนาคารธนชาต(TBANK)กับ SCIB

ทั้งนี้ หลังการควบรวมกิจการธนาคารทั้งสองแห่งแล้ว จะทำให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนล้านบาท เป็น 6 แสนล้านบาท และมีขนาดสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนล้านบาท เป็น 8 แสนล้านบาท โดยเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจจากเดิมที่ TCAP เน้นสินเชื่อรายย่อย จะกลายเป็น Universal Banking ทันที และกลายเป็นธนาคารเทียบเท่าธนาคารขนาดใหญ่ รวมทั้งเมื่อบริษัทลูกมีโครงสร้างที่เติบโตขึ้นจะเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำกำไรมากขึ้นด้วย ดังนั้น จึงจะส่งผลดีต่อ TCAP ที่จะได้รับประโยชน์และเติบโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนการชนะประมูลซื้อหุ้น SCIB ประเมินว่าปีนี้ TCAP จะมีกำไรสุทธิประมาณ 4,200 ล้านบาท ลดลง 18% จากปีก่อน เนื่องจากไม่มีรายได้พิเศษจากการขายหุ้น TBANK ให้ธนาคารโนวาสโกเทีย แต่หลังการเข้าซื้อ SCIB แล้วรวมธุรกิจกับ TBANK จะมีผลกำไรที่เพิ่มขึ้น โดยคร่าวๆ ประเมินว่ามีกำไรไตรมาสละ 500 ล้านบาท ซึ่งหากกระบวนการควบรวมแล้วเสร็จในครึ่งปีแรกก็น่าจะทำให้ปีนี้ TCAP จะมีกำไรจาก SCIB อย่างน้อย 1,000 ล้านบาทจากการได้รับผลดีช่วงครึ่งปีหลัง

แต่เนื่องจากระบวนการควบรวมกิจการต้องใช้เวลา หลังจากนั้นก็ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรเช่นเดียวกับกรณีของ ธนาคารทหารไทย(TMB) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY)ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น คาดว่าการเข้าซื้อ SCIB ครั้งนี้น่าจะส่งผลดีต่อ TCAP อย่างเต็มที่ในปี 53-54

นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)เชื่อว่า ผลจากการควบรวมกิจการ TBANK และ SCIB จะเกิดขึ้นชัดเจนในปี 54 เนื่องจากหลังเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นกันแล้ว ยังต้องมีกระบวนการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ การควบกิจการ และใช้เวลาปรับโครงสร้างองค์กร

ขณะที่ในส่วนของผลดำเนินงานของ TCAP เอง ก่อนการชนะประมูลการซื้อหุ้น SCIB มองว่าในปี 53 การทำกำไรของบริษัทจะลดลงจากปี 52 เนื่องจากไม่มีรายได้พิเศษจากการขายหุ้น TBANK เหมือนปีก่อน และสัดส่วนการถือหุ้นของ TCAP ในTBANK ลดลงจาก 75% เหลือ 50% ขณะที่การทำกำไรของ TCAP ส่วนใหญ่จะมาจากการปล่อยสินเชื่อธุรกิจเช่าซื้อเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การซื้อหุ้น SCIB น่าจะส่งผลดีต่อ TCAP อย่างเต็มที่ในปี 54 เพราะเมื่อควบรวมกิจการธนาคารสองแห่ง จะทำให้ TBANK จะขึ้นชั้นกลายเป็นธนาคารอันดับ 5 แทนธนาคารกรุงศรีอยุธยาทันที และมองว่าในอนาคต ทั้ง TCAP และ TBANK จะต้องมีการเพิ่มทุนเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจที่โตขึ้น

“มองว่าในปีนี้การซื้อหุ้น SCIB จะยังไม่ส่งผลต่อการทำกำไรที่ดีขึ้นของ TCAP เนื่องจากยังต้องมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ช่วงแรกจึงต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างองค์กร อาจต้องมีการตั้งสำรองหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะการดำเนินงานจาก 2 แบงก์ที่อาจไม่เหมือนกัน แต่คาดว่าปี 54 ภาพจะดีขึ้นชัดเจน TBANK จะกลายเป็นแบงก์อันดับ 5 จากแบงก์อันดับ 8" นางสาวศศิกร กล่าว

ทั้งนี้ มองว่าราคาที่ TCAP ซื้อหุ้น SCIB จากกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ 32.50 บาท/หุ้น เป็นราคาที่เหมาะสม คิดเป็น 1.6 เท่าของมูลค่าทางบัญชี ณ สิ้นปี 52 ถือเป็นราคาซื้อที่ไม่สูงเกินไป

นางสาวปาวีณา เดชอิทธิกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า กล่าวว่า การควบรวมระหว่าง TBANK กับ SCIB ทำให้ TBANK ใหม่ก้าวขึ้นสู่ธนาคารลูกครึ่งชั้นนำขนาดกลางอันดับ 5 แซง BAY โดยจะมีสินทรัพย์ 7.8 แสนล้านบาท มีสาขา 677 แห่ง มี ATM 2,101 เครื่อง และมีพนักงาน 14,521 คน

แต่ในระยะสั้นผลประกอบการจะยังไม่โดดเด่นเนื่องจากอยู่ระหว่างการควบรวม, การจัดกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจ, เครือข่าย และ บุคคลากรให้ไปด้วยกัน ทำให้ Cost/Income อยู่ในระดับสูง โดยกระบวนการควบรวมจะเสร็จภายในสิ้นปี 54 ก่อนนำหุ้น SCIB ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และยังไม่มีแผนจะนำธนาคารธนชาตเข้าจดทะเบียนในตลาด

แหล่งเงินที่ใช้ซื้อหุ้น SCIB ทั้งหมดประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาทมาจากการเพิ่มทุนให้กับธ.ธนชาต ซึ่งจะมาจากเงินของผู้ถือหุ้นเดิมคือ TCAP และธนาคารแห่งโนวาสโกเทียประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท การออกตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน(ไฮบริด Tier 1) อีกประมาณ 6-7 พันล้านบาท รวมทั้งหุ้นกู้ที่จะเข้ามาเพิ่มในกองทุนขั้นที่ 2 อีกประมาณ 6 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินสดประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทำให้เงินกองทุนลดลงเหลือ 12% จาก 14%

ทั้งนี้ การประเมินราคาหุ้น TCAP ต้องประเมินด้วยมูลค่าทางบัญชี เนื่องจากยังไม่สามารถประเมินความสามารถในการทำกำไรจากข้อมูลในอดีตก่อนการควบรวมธุรกิจได้ ที่สำคัญมูลค่าตามบัญชีของ TCAP จะถูกกดดันจากการที่ TBANK ประกาศเพิ่มทุน 3,500 ล้านหุ้น จาก 1,930 ล้านหุ้น เป็น 5,430 ล้านหุ้น และ การเข้าซื้อ SCIB ที่ราคาสูงประมาณ 1.69 เท่าของมุลค่าทางบัญชีทำให้เกิด Goodwill มูลค่าประมาณ 12,500 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ