เมื่อเวลา 16.05 น.
หุ้น TT&T พุ่ง 25.00% มาที่ 0.40 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.08 บาท มูลค่าซื้อขาย 302.41 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 0.33 บาท ราคาปรับขึ้นสูงสุดที่ 0.41 บาท และต่ำสุดที่ 0.32 บาท
หุ้น JAS ขยับขึ้น 6.82% มาที่ 0.47 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท มูลค่าซื้อขาย 306.14 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 0.45 บาท ปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 0.50 บาท และต่ำสุดที่ 0.44 บาท
และ JTS บวกขึ้นมา 3.17% มาที่ 1.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาท มูลค่าซื้อขาย 5.17 ล้านบาทราคาเปิดตลาดที่ 1.26 บาท สูงสุด 1.31 บาท และ ต่ำสุด 1.25 บาท
นายจักรกริช เจริญเมธาชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่ม บมจ.ทีทีแอนด์ที(TT&T) ซึ่งรวมถึง บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล(JAS) และ บมจ.จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์(JTS) ปรับตัวเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น หลังจากที่ TT&T จัดทำแผนปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จเร็วกว่าคาด และอยู่ระหว่างการเสนอแผนต่อเจ้าหนี้เพื่อโหวตรับแผน ทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร
อย่างไรก็ตาม มองว่าแผนการปรับโครงสร้างหนี้ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรและจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป
ทั้งนี้ ให้แนวต้าน TT&T ที่ 0.38 บาท แนวรับที่ 0.33 บาท และแนวต้าน JAS ที่ 0.47 อีกจุดที่ 0.49 บาท และแนวรับที่ 0.44 บาท
อนึ่ง "อินโฟเควสท์"รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าแหล่งข่าวจาก TT&T ระบุว่าผู้บริหารแผนฯ จะเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้โหวตรับแผนในวันที่ 8 เม.ย.53
แหล่งข่าวจากผู้บริหาร TT&T กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ในวันนี้ว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นในกลุ่ม TT&T ต่อเนื่องและมีวอลุ่มค่อนข้างมากในระยะนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นแบบไม่ค่อยปกติ และทางฝ่ายบริหารไม่ทราบสาเหตุที่เป็นสาระสำคัญ น่าจะเป็นการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนบางกลุ่ม
"ผมเข้าใจว่าวอลุ่มและราคาที่เพิ่มขึ้นๆผิดปกตินั้น ผมมองว่ามีคนบางกลุ่มเข้ามาลงทุนหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ว่าป็นนักลงทุนกลุ่มไหน แต่เท่าที่สังเกตผมมองว่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นไม่ค่อยปกตินัก"แหล่งข่าว กล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม TT&T ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงแง่รายได้กำไรที่ที่พิเศษในปีนี้ แต่เรื่องที่สำคัญ คือ การที่ผู้บริหารแผนฯ ส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วและรอให้เจ้าหนี้โหวตรับแผนในวันที่ 8 เม.ย.53
ในฐานะที่เป็นผู้บริหารได้เห็นแผนฟื้นฟูฯ แล้ว โดยส่วนสำคัญจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งจะสามารถลดภาระดอกเบี้ยได้กว่า 50% จากปัจจุบันมีภาระดอกเบี้ยจ่ายกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี และหลังการปรับโครงสร้างแล้วจะให้อัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยเหลือแค่ 3% ถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ดีมาก และลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทเหลือไม่ถึง 500 ล้านบาทต่อปี
"ตอนนี้เหลือแค่ว่าเจ้าหนี้จะรับแผนการปรับโครงสร้างหรือไม่ ซึ่งเท่าที่เห็นถือว่าเป็นแผนที่ดี โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็น hedge fund ดังนั้น คาดเดายากว่าจะโหวตรับแผนหรือไม่ แต่ถ้าไม่รับแผนบริษัทก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ผลประกอบการยังคงเป็นเช่นเดิม ส่วนแผนดังกล่าวจะทำให้มีกำไรหรือเปล่าในปีนี้ยังไม่สามารถตอบได้ และทริปปเปิ้ลทรี บรอดแบรนด์ยังคงพับแผนยาวในการเข้าตลาดหลักทรัพย์"แหล่งข่าว กล่าว