นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 59 ที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่า 100 เมกะวัตต์ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 53 คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ 50 เมกะวัตต์ขึ้นไป โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้และผลกำไรในปี 54 โดยเริ่มจากโครงการพลังงานลม
"ปีนี้เราน่าจะทำได้เร็วกว่าที่เราตั้งเป้าไว้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีรีเทิร์นไม่สูงมากนัก ขึ้นอยู่กับ adder(ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม)ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน" นายนพพล กล่าว
นายนพพล กล่าวว่า โครงการพลังงานทดแทนที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในปีนี้ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาหาพื้นที่สร้างในภาคกลางหรือภาคอีสาน ขณะเดียวกันจะเริ่มเจรจาหาผู้ร่วมลงทุน และผู้พัฒนาโครงการ โดยเชื่อว่าภายในปีนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ไม่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ และปัจจุบัน กระทรวงพลังงานให้ adder 8 บาท/หน่วยผลิต
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล โดยใช้พืชผลการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง ขณะนี้ ได้พิจารณาพื้นที่ที่อาจอยู่ในภาคอีสาน โดยในปีนี้คาดว่าจะได้จัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการได้
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เริ่มก่อสร้างในกลางปี 53 และคาดว่าแล้วจะทำรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท/ปี ซึ่งรวม adder 3.50 บาท/หน่วยผลิต โดยโครงการนี้ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 25 ปี ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดำเนินการของบริษัท ซัสเทน เอเบล เอ็นเนอยี่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่ง RATCH ถือหุ้น 30%
และบริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าจากต่างประเทศ 2-3 ราย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยมีขนาดโรงไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ ขั้นไป ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ คาดว่าภายในกลางปี 53 น่าจะเห็นสัญญาณความเป็นไปได้หรือความชัดเจนในการซื้อกิจการ อย่างน้อยบริษัทต้องการเข้าไปถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50% โดยได้จัดเตรียมเงินทุน 5,000-6,000 ล้านบาท และปัจจุบันมีกระแสเงินสด 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มองว่ารายได้ของบริษัทในปี 54 จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้จากโครงการน้ำงึม 2 ที่บริษัทถือหุ้น 25% จะเริ่มมีรายได้ในปลายปี 53 รวมถึงโครงการที่เข้าซื้อกิจการในต่างประเทศที่จะเริ่มเห็นในปี 54 ส่วนโครงการหงสา ที่บริษัทถือหุ้น 40% มีขนาดผลิตไฟฟ้า 1,800 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในไตรมาส 1/53 หรือ ต้นไตรมาส 2/53 และคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 58 และโครงการน้ำงึม 3 ที่บริษัทถือหุ้น 25% ขนาดผลิตไฟฟ้า 615 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 60