ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (19 มี.ค.) เพราะได้รับปัจจัยลบจากปัญหาหนี้สินของกรีซที่นักลงทุนมองว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความระมัดระวังหลังจากที่ธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจุดกระแสให้ธนาคารกลางในประเทศอื่นๆขึ้นดอกเบี้ยตามมาในอนาคต ในขณะที่สหรัฐยังต้องคงดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำต่อไป ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงเป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตลาดสามารถปิดเคลื่อนไหวในแดนบวกได้นานต่อเนื่องถึง 8 วัน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 37.19 จุด หรือ 0.3% แตะที่ 10,741.98 จุด ดัชนี S&P 500 ขยับลง 5.93 จุด หรือ 0.5% ปิดที่ 1,159.90 จุด และดัชนี Nasdaq ทรุดตัว 16.87 จุด หรือ 0.7% ปิดที่ 2,374.41 จุด
ทั้งนี้ ข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกรีซที่อาจต้องกลับไปขอความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หากในสัปดาห์หน้า กลุ่มผู้นำชาติยุโรปยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องแผนการช่วยเหลือกรีซแก้ปัญหาหนี้สาธารณะนั้น ทำให้นักลงทุนเกรงว่ากรีซจะไม่สามารถแบกรับปัญหาหนี้สินและยอดขาดดุลงบประมาณ ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของอินเดียก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่บดบังมุมมองในแง่บวกที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และปฏิกิริยาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบมาถึงตลาดหุ้นนิวยอร์ก
นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้การรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจะแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่นักลงทุนก็ยังมีความวิตกกังวลอยู่มาก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาหนี้สินในกรีซซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงตลาดเงินและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน กำหนดการลงมติเห็นชอบแผนปฎิรูประบบประกันสุขภาพของสหรัฐที่จะมีขึ้นในสุดสัปดาห์นี้ก็เป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่นักลงทุนจับตามอง และทำให้หุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์และการแพทย์ปรับตัวสูงขึ้นเกือบทั่วทั้งกระดาน ขณะที่หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆร่วงลงกันเป็นส่วนใหญ่
โดยรายงานข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐ จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการเดินทางเยือนกวม อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย เป็นครั้งที่สอง เพื่อให้ความสำคัญกับการผลักดันร่างปฏิรูปนโยบายสุขภาพให้ผ่านการรับรองของสภาคองเกรส ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ มีการคาดหมายกันว่าสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติร่างกฎหมายปฏิรูปโครงการประกันสุขภาพและส่งต่อให้วุฒิสภาก่อนที่โอบามาจะออกเดินทางไปต่างประเทศในวันที่ 21 มีนาคม แต่ดูเหมือนว่า การลงมติครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับร่างดังกล่าวจะไม่สามารถเสร็จได้ทันก่อนช่วงบ่ายวันอาทิตย์
ด้านโรเบิร์ต กิ๊บส์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า พันธมิตรต่างประเทศมีความสำคัญยิ่งต่อความเจริญก้าวหน้าการทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของอเมริกา แต่การผ่านร่างปฏิรูประบบประกันสุขภาพมีความสำคัญที่สุด และประธานาธิบดีโอบามาก็ตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเห็นร่างดังกล่าวผ่านสภาคองเกรสตั้งแต่ต้นจนจบ
ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากการลงมติต่อร่างกฎหมายประกันสุขภาพแล้ว ตลาดยังจับตาการรายงานยอดขายบ้านใหม่ และยอดขายบ้านมือสอง รวมถึงยอดสั่งซื้อเครื่องจักรของสหรัฐในสัปดาห์หน้า