คณะกรรมการ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เห็นชอบแผนแม่บททางธุรกิจทั้งระยะสั้นระยะกลาง และระยะยาว รวม 25 โครงการ เพื่อผลักดันให้รายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบินเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% จาก 40% ในปัจจุบัน
นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ ทอท.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.เห็นชอบในหลักการแผนแม่บททางธุรกิจ(Master Business Plan)ประจำปีงบประมาณ 2553-2557 โดยแบ่งช่วงระยะเวลาดำเนินงานตามแผนงาน คือ ระยะสั้น ภายใน 2 ปี ระยะกลาง ระหว่าง 2 — 10 ปี และระยะยาว ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งประกอบด้วย 25 แผนงาน หรือ โครงการ
แผนระยะสั้น 5 แผน ได้แก่ โครงการแผนการตลาดสมัยใหม่, โครงการ Aviation Marketing Incentive Program ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) และ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.), การส่งเสริมการตลาดที่เกี่ยวกับธุรกิจขนส่งทางอากาศให้แก่ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท., โครงการประกวดแผนการตลาดเชิงนวัตกรรมทางธุรกิจท่าอากาศยานสำหรับท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. และ แผนความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ
ส่วนแผนระยะกลาง 10 แผน ได้แก่ กิจกรรมเชิงพาณิชย์บริเวณทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารชั้น B1 และสถานีรถไฟฟ้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, โครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์บริเวณลานจอดรถระยะยาว (Long-Term Parking) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, โครงการศูนย์ธุรกิจรถยนต์ครบวงจรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, โครงการให้เอกชนก่อสร้างและบริหารอาคารคลังสินค้าส่วนกลางในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, โครงการบริหารสื่อโทรทัศน์ภายในอาคารผู้โดยสาร ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(Airport Channel) , โครงการห้องพักรับรอง Economy Lounge สำหรับผู้โดยสาร ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ,
โครงการอาคารผู้โดยสารสำหรับอากาศยานส่วนบุคคล (Private Jet Terminal) ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือดอนเมือง , โครงการสำนักงานให้เช่าและโรงแรมขนาดเล็กบริเวณชายทะเล ในท่าอากาศยานภูเก็ต ,โครงการติดตั้งและให้บริการระบบอุปกรณ์ไฟฟ้า 400 Hz Ground Power Unit และระบบปรับอากาศ PC-Air ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ โครงการศึกษาการใช้ประโยชน์พื้นที่ 3 ไร่ บริเวณถนนเชียงใหม่ฮอด ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่
แผนระยะยาว 10 แผน ได้แก่ โครงการให้เอกชนร่วมทุนพัฒนาธุรกิจบนที่ดินแปลง 37 ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, การผลิตน้ำประปาจากน้ำผิวดินเพื่อใช้จำหน่าย ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, โครงการซ่อมบำรุง Landing Gear ของอากาศยานตัวแคบ ที่ท่าอกาศยานดอนเมือง, โครงการบริหารจัดการอะไหล่อากาศยาน ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง, ศูนย์ซ่อมบำรุงและดูแลอากาศยานขนาดเล็ก ในท่าอากาศยานดอนเมือง, ศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ ในท่าอากาศยานดอนเมือง, ศูนย์ฝึกบินจำลอง ในท่าอากาศยานดอนเมือง ,
โครงการอาคารผู้โดยสารสำหรับอากาศยานส่วนบุคคล (Private Jet Terminal) ท่าอากาศยานภูเก็ต, โครงการอาคารผู้โดยสารสำหรับอากาศยานส่วนบุคคล (Private Jet Terminal) ท่าอากาศยานเชียงใหม่
ทั้งนี้ การจัดทำแผนดังกล่าวเพื่อเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการ ทอท.ที่ต้องการให้ ทอท.เพิ่มสัดส่วนรายได้ระหว่างรายได้จากกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบินและรายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน จากเดิมมีสัดส่วน 60 : 40 เป็น 50 : 50
นายปิยะพันธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการ ทอท.ยังอนุมัติกรอบอำนาจกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ในการกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้สายการบินและผู้ประกอบการในการใช้บริการของ ทอท. ในการปรับลดค่าธรรมเนียม 3 ประเภท ได้แก่ การปรับลดค่าธรรมเนียมขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Fees) , การปรับลดค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Parking Fees) การปรับลดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (Passenger Service Charges)
ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์และสภาวะทางเศรษฐกิจการตลาด โดยการปรับลด ค่าธรรมเนียมจะมีผลเฉพาะกับเที่ยวบินผู้โดยสารใหม่หรือผู้โดยสารใหม่ และสายการบินสำคัญที่จะลดเที่ยวบินหรือย้ายฐานการบินไปยังท่าอากาศยานอื่นในภูมิภาค โดยระยะเวลาของกรอบจะพิจารณาทบทวนใหม่ทุก ๆ 5 ปี