"ทริส" ทบทวนเครดิตเดิมและจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่ GLOW ที่ A/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 26, 2010 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) ที่ระดับ “A" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 9,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานที่ดีในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย กระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่ลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณมาบตาพุด ซึ่งปัจจุบันโครงการหลายแห่งในบริเวณดังกล่าวกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านกฎระเบียบเนื่องจากมิได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กรณีเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม การฟื้นตัวของความต้องการใช้ไฟฟ้าและสาธารณูปโภคตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเพิ่มความต้องการใช้ของกลุ่มลูกค้าเดิมและจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความล่าช้าของโครงการขยายการลงทุนได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า โกลว์ก่อตั้งเมื่อปี 2536 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer-SPP) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogen) และธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer — IPP) ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันโกลว์มีกลุ่ม GDF Suez เป็นผู้ถือหุ้น 69% ของจำนวนหุ้นเรียกชำระ ทั้งนี้ GDF SUEZ เป็นกลุ่มพลังงานชั้นนำของโลกซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านพลังงานในยุโรปและทั่วโลก รวมทั้งการผลิตไฟฟ้า ค้าก๊าซ และให้บริการด้านพลังงานอื่นๆ ปัจจุบันโกลว์เป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย โดยมีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจ Cogen ประมาณ 65% ของกลุ่มโกลว์ ณ สิ้นปี 2552 กลุ่มบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,860 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย IPP 865 เมกะวัตต์ และ Cogen 995 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้า IPP พลังงานก๊าซของบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี และโครงการ IPP พลังงานน้ำอีกแห่งตั้งอยู่ในประเทศลาว ธุรกิจ Cogen ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอีสเทิร์นซีบอร์ดในจังหวัดระยองส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าในธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีความแน่นอนสูง ธุรกิจ Cogen ของบริษัทประกอบด้วยหน่วยผลิต 21 หน่วยซึ่งเชื่อมโยงกันเพื่อให้ระบบการจ่ายไฟฟ้าและไอน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วยให้หน่วยผลิตต่างๆ สนับสนุนซึ่งกันและกันและสามารถสำรองการจ่ายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่กัน ซึ่งจะคงอัตราความพร้อมจ่ายได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม โกลว์มีความเสี่ยงจากการมีลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่มาบตาพุดเนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีลักษณะที่ผันผวนและได้รับผลกระทบจากวงจรเศรษฐกิจได้ง่าย

จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จำนวน 1,860 เมกะวัตต์และไอน้ำจำนวน 967 ตันต่อชั่วโมง บริษัททำสัญญา PPA หลายฉบับอายุระหว่าง 21-25 ปีเพื่อขายไฟฟ้าจำนวน 1,429 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. ส่วนปริมาณไฟฟ้าและไอน้ำที่เหลือ รวมถึงน้ำปราศจากแร่ธาตุนั้นบริษัททำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลาคงเหลือสูงสุด 20 ปี ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าและไอน้ำตามสัญญาดังกล่าวถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนสำหรับโกลว์ ในปี 2552 บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าคิดเป็น 86% ของรายได้รวม โดยเป็นรายได้จาก กฟผ. 70% และจากลูกค้าอุตสาหกรรม 30%

ทริสเรทติ้งกล่าวถึงผลการดำเนินงานของโกลว์ในปี 2552 ว่าน่าพอใจ แม้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากลูกค้าอุตสาหกรรมในธุรกิจ Cogen ปรับตัวลดลงอย่างมากตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 จากสาเหตุวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ความต้องการก็เริ่มฟื้นตัวเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 และสามารถชดเชยส่วนที่ลดลงในช่วงต้นปีได้ โดยปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 297 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อเดือนโดยเฉลี่ย เทียบกับปริมาณขายในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจที่ 283 เมกะวัตต์ชั่วโมง การฟื้นตัวดังกล่าวทำให้ปริมาณขายไฟฟ้าแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมทั้งปีอยู่ที่ระดับ 3,404 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มเป็น 22.1% ในปี 2552 จาก 21.4% ในปี 2551 เนื่องจากราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุนเชื้อเพลิง EBITDA ของบริษัทจึงปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 7,802 ล้านบาทในปี 2552 จาก 7,330 ล้านบาทในปี 2551 ส่วนอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 59.8% จาก 52.3% ในปี 2551 เนื่องจากมีการกู้ยืมเพิ่มเพื่อลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิต

ปัจจุบันโกลว์อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า 3 แห่งซึ่งประกอบด้วยโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานถ่านหินหรือ CFB#3 (115 เมกะวัตต์) โรงผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมระยะที่ 5 (382 เมกะวัตต์เทียบเท่า) และโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการ IPP (660 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้า IPP แห่งใหม่นี้ดำเนินงานโดย บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างโกลว์ (65%) และ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (35%) การก่อสร้างโครงการทั้งหมดคืบหน้าโดยลำดับตามแผนยกเว้น CFB#3 ซึ่งช้ากว่ากำหนด 6 เดือนเนื่องจากความล่าช้าของผู้รับเหมาก่อสร้าง มูลค่าเงินลงทุนสำหรับโครงการเพิ่มกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัทคิดเป็น 64,076 ล้านบาท โดยบริษัทมีความต้องการเงินทุนจำนวน 34,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงการระหว่างปี 2551-2554 โครงการดังกล่าวจะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 1,157 เมกะวัตต์เทียบเท่า และกำลังการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มโกลว์จะเพิ่มขึ้น 60% เป็น 3,017 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2554

คำพิพากษาของศาลปกครองที่สั่งระงับการดำเนินงานโครงการจำนวน 76 แห่งในบริเวณมาบตาพุดได้เพิ่มความเสี่ยงด้านกฎระเบียบสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปัจจุบันโครงการขยายกำลังการผลิตของโกลว์ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ถูกสั่งระงับการดำเนินงานและยังคงดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผน โครงการ IPP ใหม่ที่ดำเนินการภายใต้บริษัทเก็คโค่-วันได้รับการคุ้มครองตามสัญญาขายไฟฟ้า PPA ที่ทำกับ กฟผ. ในขณะที่โครงการ CFB#3 ก็ได้รับใบอนุญาตดำเนินการแล้ว ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพสำหรับโครงการทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ จากกำลังการผลิตใหม่จำนวน 1,157 เมกะวัตต์เทียบเท่า บริษัทได้ทำสัญญาขายไฟฟ้าประมาณ 200 เมกะวัตต์ให้แก่บริษัทที่อยู่ในรายชื่อถูกสั่งระงับดำเนินการ โดยเหลือที่ยังไม่ได้ขายอีก 70 เมกะวัตต์ ปัญหาที่โครงการของลูกค้าของบริษัทอาจต้องเปิดดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนดประมาณ 1 ปีจะทำให้อัตราการเติบโตของรายได้ของบริษัทลดลง แต่ก็มีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้เพียงเล็กน้อย ทริสเรทติ้งกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ