SPPT เผยบ.ย่อยเซ็นสัญญาส่งน้ำมันดิบจากการแปรรูปขยะให้ BCP

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 29, 2010 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสันติวิภา พานิชกุล กรรมการบริหาร บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด(SPEE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท(ประเทศไทย)(SPPT) เปิดเผยว่า SPEE ได้เริ่มติดตั้งเครื่องจักรและทดสอบขั้นตอนการทำงานเมื่อปลายปี 52 และได้เริ่มทดลองการผลิตเต็มกำลังในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีกำลังการผลิต 6 ตันต่อวัน มีผลผลิตเป็นน้ำมัน 4,500 ลิตรต่อวัน หรือปีละประมาณ 1,350,000 ลิตรต่อปี

“เราสามารถนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาจัดการและพลิกจากวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ โดยเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นน้ำมันซึ่งในปัจจุบันสามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้แล้ว และกระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยได้มีการส่งเสริมด้วยการประกันราคาขายผ่านโรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งที่ราคา 18 บาทต่อลิตร โดยเพิ่มจากราคาน้ำมันดิบดูไบ"นางสันติวิภา กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่าง เทศบาลเมืองหัวหิน บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) และ SPEE เพื่อจัดส่งน้ำมันดิบแปรรูปจากขยะพลาสติกไปจำหน่ายให้กับโรงกลั่นน้ำมันบางจากฯ เพื่อจะได้กลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่มีคุณภาพสูงจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป

แนวโน้มของธุรกิจดังกล่าวนี้ยังมีโอกาสเติบโตต่อไปในอนาคตได้อีกมากเนื่องจากประเทศไทยมีขยะฝังกลบอยู่ทั่วประเทศประมาณ 50 ล้านลิตรต่อปี ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติก 10% หรือ 5 ล้านตันต่อปี หากสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันดิบได้จะมีปริมาณมากถึง 23.58 ล้านบาร์เรลต่อปี สามารถลดการนำเข้ามันดิบคิดเป็นมูลค่ามากถึง 56,520 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่นับรวมขยะที่เกิดขึ้นมาใหม่อีกประมาณ 15 ล้านตันต่อปี โดยขยะ 6-10 ตันสามารถผลิตเป็นน้ำมันดิบได้ 28-47 บาร์เรล(4,500-7,500 ลิตร)

นายจิระ พงษ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่าเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเนื่องจากต้องการแก้ปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นหัวหิน โดยจะทำให้ท้องถิ่นสามารถแก้วิกฤตจากขยะพลาสติกที่ต้องรอการย่อยสลายอีก 500 ปี ให้เป็นโอกาสในการสร้างพลังงานทดแทน

สำหรับเทศบาลเมืองหัวหิน พบว่ามีศักยภาพของพื้นที่ ที่มีบ่อขยะฝังกลบทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ตันแบ่งเป็นขยะพลาสติกประมาณ 30,000 ตัน และยังมีขยะเกิดใหม่อีกวันละ 100 ตัน ดังนั้นจึงมีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตน้ำมันดิบได้ ซึ่งขยะพลาสติก 30.000 ตัน สามารถผลิตเป็นน้ำมันดิบได้ 140,000 บาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ