เลขาธิการอาเซียน มองการเมืองขัดแย้งยืดเยื้อทำไทยเสียโอกาสรับประโยชน์ AFTA

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 31, 2010 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในการสัมมนา"บริษัทจดทะเบียน ปรับกลยุทธ จัดทัพรับ AFTA"ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองหากมีความยืดเยื้อก็จะทำให้ไทยเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) ที่เริ่มมีการเดินหน้าข้อตกลงลดภาษีไปแล้วเมื่อ 1 ม.ค.53 ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีความพร้อมมาก และมีความได้เปรียบในหลายภาคอุตสาหกรรม

"ความขัดแย้งทางการเมืองแน่นอนว่าถ้ายืดเยื้อต่อเนื่องก็จะกระทบ เกิดความไม่มั่นคง เสถียรภาพ แน่นอนธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งการลงทุน การซื้อขายที่จะกระทบกับส่งออก...ถ้ายืดเยื้อไม่เกิดภาวะสมดุล ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมืองได้ก็เสียประโยชน์ต่อประประเทศชาติ"นายสุรินทร์ กล่าว

ขณะที่เศรษฐกิจโลกหลุดพ้นออกมาจากภาวะวิกฤตแล้ว ทำให้ความต้องการสินค้าของไทยมีมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกตะวันตก หากเราไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองได้ทันต่อความต้องการก็จะเสียโอกาส และยิ่งหากปัญหาการเมืองยืดเยื้อ การที่จะหาประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีก็จะล่าช้าไปด้วย

และผู้ประกอบการในประเทศก็จะไม่มีกะจิตกะใจ เพราะถ้าฐานการผลิตในประเทศไม่มีความมั่นใจและไม่มั่นคง ก็จะทำให้นักลงทุนหรือภาคเอกชนไทยที่จะไปมองหาโอกาสข้างนอกก็จะเกิดการรีรอ เสียโอกาส ขณะที่ตลาดไม่รอ ใครออกไปก่อนก็รับประโยชน์ก่อน

นายสุรินทร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมมากแล้วสำหรับการเปิดเสรีอาเซียน ทั้งภาคเอกชนภาครัฐนักวิชาการต้องยอมรับว่านี่คือทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า แม้ว่าผู้ประกอบการบางรายอาจต้องปรับตัวและบางธุรกิจยังต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในเรื่องการปรับการผลิต เทคโนโลยี และ การจัดการ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องร่วมมือกัน

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ค้าปลีก ถือว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ขณะที่อุตสาหกรรมก็มีความแข็งแกร่งที่สุด ซึ่งเคยได้รับการยกให้เป็นดีทอยด์แห่งเอเชีย หลายประเทศสนใจมาร่วมลงทุนด้วยเพียงแต่รอโอกาสและความพร้อม นอกจากนั้น บริการทางการแพทย์ บริการท่องเที่ยว ก็ไม่เป็นรองใคร

"ภาพลักษณ์ไทยในเวทีอาเซียนดีขึ้นกว่าปี 52 ในเชิงเปรียบเทียบ เพราะทุกอย่างอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีอะไรรุนแรงก็ไม่กระทบ ตอนนี้เป็นเรื่องภายใน ซึ่งการใช้วิธีเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาข้อยุติและมีการเปิดเผยก็โปร่งใสดีสะท้อนวุฒิภาวะการเมืองไทยอีกระดับหนึ่ง"นายสุรินทร์ กล่าว

ด้านนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า การเปิดเสรีทางการค้าในอาเซียนที่เริ่มมาตั้งแต่ 1 ม.ค.53 นั้น บริษัทจดทะเบียนของไทยต้องใช้โอกาสนี้ในการขยายธุรกิจ และจะต้องมีการปรับตัว เพราะอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งมองว่าข้อตกลง AFTA เป็นโอกาสทางที่ดี หากธุรกิจไทยแข่งขันไม่ได้ศักยภาพก็จะลดน้อยถอยลงเมื่อเทียบกับชาติอาเซียนอื่น ๆ

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ขยายธุรกิจออกไปในเวทีอาเซียนแล้ว เช่น PTT, SCC, BANPU, CK ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทเองและประเทศชาติในการขยายการลงทุน ผู้ประกอบการไทยที่ออกไปทำงานนอกประเทศก็จะสร้างรายได้กลับเข้ามาในประเทศด้วย

ขณะที่ นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ถือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อความเป็นหนึ่งเดียว การที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ AEC มีข้อดีทั้งในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน แรงงานและวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการรุกตลาดอาเซียน แต่ในด้านปัจจัยลบก็คือผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมรับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการไทยต้องวางแผนปรับตัวเพื่อรับมือสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 58

"ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นข้อตกลงในอีก 5 ปีข้างหน้าที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียวไม่มีภาษีเป็นตัวกั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของไทย"นายดุสิต กล่าว

ส่วนสถานการณ์ด้านการเมืองในขณะนี้ นายดุสิต มองว่า เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก แต่การฟื้นตัวยังเปราะบางและยังไม่แข็งแรง จึงยังชะล่าใจไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

"สิ่งที่ต้องคิดตอนนี้คือเศรษฐไทยเริ่มดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น แต่อย่าชะล่าใจ สื่งที่จำเป็นก็คือหาหนทางร่วมกัน ขจัดความขัดแย้งในช่วงสั้นนี้ต้องจบอย่างเร็ว เพราะตอนนี้เป็นโอกาสดีที่ตลาดโลกดีขึ้นไทยก็จะได้โอกาสดีด้วย"นายดุสิต กล่าว

นายดุสิต ยังกล่าวถึงข้อเรียกของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ว่า ตอนนี้เศรษฐไทยยังอ่อนแอการที่จะไปทำอะไรแล้วทำให้เกิดสูญญากาศมองไม่เห็นผลดี แต่ถ้าคิดจะทำอะไรก็ ควรรอให้เศรษฐกิจแข็งแรงขึ้นกว่านี้ หรือถึงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

"การจะทำอะไร ถ้าเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งแล้วปล่อยให้มีสูญญากาศ ไม่ได้ประโยชน์เลย ถ้าจะเห็นประโยชน์ควรประวิงเวลาให้เศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้หรือเปล่า"นายดุสิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ