PTTEP คาด กำไร Q1/53 โต,ทยอยบันทึกค่าชดเชยมอนทาร่า Q2/53 ถึงต้นปี 54

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 31, 2010 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) คาดว่ากำไรในช่วงไตรมาส 1/53 จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 4/52 และดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาที่กว่า 70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเฉลี่ยทั้งปี 52 อยู่ที่ 60-62 ดอลลาร์/บาร์เรล และปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ 2.54 แสนบาร์เรล/วัน จากเฉลี่ยทั้งปี 52 อยู่ที่ 2.23 แสนบาร์เรล/วัน โดยมีปริมาณก๊าซเพิ่มเข้ามาจากแหล่ง JDA , อาทิตย์เหนือ และ B-17

สำหรับทั้งปี 53 บริษัทคาดว่ากำไรจะดีขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไร 2.2 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทจะมีการทยอยรับรู้ค่าชดเชยความเสียหายแหล่งมอนทาร่า 230 ล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มทยอยรับรู้ฯตั้งแต่ไตรมาส 2/53 ไปจนถึงต้นปี 54 รวมถึงการรับรู้ฯ สำรองกลับจากความเสียหายแหล่งมอนทาร่าที่ได้ตั้งไว้ 9 พันล้านบาทในปี 52 ซึ่งจะต้องหักเงินชดเชยที่ได้รับจากบริษัทประกันเข้ามาส่วนหนึ่งแล้ว 40 ล้านดอลลาร์

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเข้าไปซ่อมแซมแท่นผลิตของแหล่งมอนทาร่า คาดว่าต้นปี 54 น่าจะแล้วเสร็จ และเรียกค่าประกันได้ครบทั้งหมด ขณะเดียวกันบริษัทก็รอการประเมินความเสียหายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งโอกาสจะถูกฟ้องจากกรณีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าการรั่วไหลของน้ำมันจากแหล่งดังกล่าวมีผลกระทบหรือสร้างความเสียหายกับบุคคลที่สามอย่างไร จึงเชื่อว่าบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว

นายอนนต์ เปิดเผยว่า บริษัทจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซจากแหล่ง M9 ในพม่าภายในครึ่งหลังของเดือน เม.ย.53 หลังจากที่เลื่อนมาจากไตรมาส 1/53 เพื่อรอการพิจารณาของรัฐบาลพม่า ส่วนดีล M&A ก็กำลังดูอยู่อีกหลายโครงการ ทั้งในพม่า ออสเตรเลีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้น PTTEP วันนี้ นายพิชัย ชุณหวชิระ กรรมการบริษัท กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาหาแหล่งเงินกู้สกุลดอลลาร์ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาท เพราะปัจจุบันบริษัทแทบจะไม่มีภาระหนี้สกุลดอลลาร์เลย ซึ่งไม่สอดรับกับรายรับและรายจ่ายส่วนใหญ่ที่เป็นสกุลดอลลาร์

"สิ่งที่ทำในปีนี้ หนี้ที่เป็น non US ก็จะปรับเปลี่ยนให้เป็นสกุลดอลลาร์ ปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะกู้เป็นสกุลดอลลาร์เข้ามาในพอร์ต เพราะตอนนี้หนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้สกุลบาทที่มีดอกเบี้ยต่ำ"นายอนนต์ กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทมีวงเงินหุ้นกู้ที่ได้รับอนุมัติไว้เหลืออีก 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเตรียมไว้ใช้ในการลงทุนขยายกิจการ ขณะที่มีภาระหนี้ที่เป็นหู้นกู้และเงินกู้รวม 5 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ