บลจ.กสิกรฯขายกองทุนเปิดลงทุนออสเตรเลีย-อังกฤษ อายุ 7 ปี คาดผลตอบแทน 4%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 1, 2010 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวยุพาวดี ตู้จินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัทจะเปิดขายกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 7 ปี เอ (KFF7YA) ในวันที่ 2-8 เม.ย.53 เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนระยะยาวสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศ

โดยกองทุนดังกล่าว เน้นลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงินชั้นนำในต่างประเทศ มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ระยะเวลาลงทุนประมาณ 7 ปี จ่ายผลตอบแทนปีละ 1 ครั้ง ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาได้รับผลตอบแทนโดยไม่ต้องเสียภาษี โดยมีขนาดกองทุนเพียง 1,400 ล้านบาท เท่านั้น

ทั้งนี้ตราสารที่กองทุนจะลงทุนได้คัดเลือกจากสถาบันการเงินที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวเฉลี่ย AA- ณ วันที่ลงทุน มีผลประกอบการดีต่อเนื่อง ฐานะทางการเงินมั่นคงและมีสัดส่วนของหนี้เสียในเกณฑ์ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดย 3 ใน 4 ผู้ออกตราสารเป็นธนาคารในประเทศออสเตรเลีย และมีอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวที่ AA ซึ่งสูงกว่าความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลประเทศเกาหลีใต้ ประกอบด้วย

1) Commonwealth Bank of Australia (CBA) ธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย 2) Westpac Banking Corporation (WBC) ธนาคารอันดับ 2 ของออสเตรเลียซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืนที่สุดในโลก (most sustainable bank) จาก Dow Jones และ 3) Australia and New Zealand Banking Group (ANZ) ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 และมีอัตราส่วนเงินทุนสำรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 2 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ กองทุนจะกระจายความเสี่ยงไปยังทวีปยุโรปด้วย โดยลงทุนในตราสารที่ออกโดย Barclays Bank PLC ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นสถาบันการเงินเก่าแก่ที่ประกอบธุรกิจมาแล้วกว่า 300ปี มีขนาดสินทรัพย์รวมมากกว่า 70 ล้านล้านบาท และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวที่ A+

ทั้งนี้ ในแง่อันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของประเทศ ทั้งออสเตรเลียและอังกฤษได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก Standard & Poor ที่ AAA เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ BBB+ โดยประมาณการอัตราผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วอยู่ที่ 4% ต่อปี ผลตอบแทนสำหรับผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี ในขณะที่อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุประมาณ 6 ปีหลังหักภาษีแล้วอยู่เพียง 3.40% ต่อปี

นางสาวยุพาวดีกล่าวว่า ภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ในประเทศออสเตรเลีย ยังคงมีผลประกอบการที่ดีแม้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก เนื่องธนาคารในออสเตรเลียส่วนใหญ่จากจะเน้นการดำเนินธุรกิจด้านธนาคารพาณิชย์ทั่วไปคล้ายกับประเทศไทย เช่น การระดมเงินฝาก การปล่อยสินเชื่อบุคคล สินเชื่อธุรกิจและการค้าต่างประเทศมากกว่าการทำธุรกรรมด้านวาณิชธนกิจหรือตลาดหุ้นเหมือนประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยจากวิกฤตตลาดหุ้นในปี 2007-2008 ที่ผ่านมา และส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์ในออสเตรเลียมีความแข็งแกร่งมาก โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐบาล

นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา ประเทศออสเตรเลียยังได้รับผลกระทบน้อยมากและสามารถผ่านวิกฤตมาได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2009 ประเทศออสเตรเลียสามารถคงอัตราการเติบโตของ GDP เป็นบวก ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ติดลบ ทั้งนี้ เนื่องจากออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีรายได้หลักจากสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะทองคำและถ่านหิน ซึ่งมีการปรับราคาขึ้นมาสูงมากในช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลีย ดังจะเห็นได้จากออสเตรเลียเป็นประเทศเดียวที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในปี 2009 เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

"การเสนอขายกองทุนนี้ ก็เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนแบบล็อกผลตอบแทนระยะยาว และเพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปในต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียได้มีการทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ทำให้คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนในระยะยาวจะเริ่มคงตัว การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวของออสเตรเลียจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อล็อกโอกาสรับผลตอบแทนสูง พร้อมคงระดับความเสี่ยงที่ต่ำไว้ นอกจากนี้ ยังมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้วทั้งจำนวน ซึ่งช่วยให้ผู้ลงทุนคลายความกังวลในการเลือกลงทุนระยะยาวลงได้" นางสาวยุพาวดี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ