นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วเมื่อไตรมาส 1/52 โดยเศรษฐกิจหลายด้านฟื้นตัวดีขึ้นทั้งการส่งออก รายได้เกษตรกร การบริโภค และการนำเข้าสินค้าทุน โดยเพาะในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.53
แต่จากการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในเดือน มี.ค.53 มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริโภคเป็นอันดับแรก ๆ เห็นได้ว่าหลังการประกาศชุมนุมก็มีการยกเลิกของคณะทัวร์แล้ว แต่ทั้งนี้หากการชุมนุมทางการเมืองไม่นำไปสู่ความรุนแรงเชื่อว่ารัฐบาลยังสามารถบริหารจัดการได้
"ตราบใดที่ชุมนุมแล้วไม่ประทุไปสู่ความรุนแรง เชื่อว่ารัฐบาลยังดูแลบริหารจัดการใด ซึ่งประเด็นที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องก็ได้รับรู้แล้วว่าต้องการอะไร และพร้อมนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข แต่ถ้ายังยืดเยื้อจะกระทบประชาชนโดยรวม" นายกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รมว.คลังเชื่อมั่นว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังมีอยู่ สะท้อนได้จากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับขึ้นสวนทางการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งในช่วงปลายปี 52 ที่นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุน แต่เม็ดเงินนั้นยังพร้อมที่จะกลับมาลงทุน และรอประเมินสถานการณ์ชุมนุมครั้งนี้จะเหมือนช่วง เม.ย.52 หรือไม่
เมื่อเหตุการณ์ไม่รุนแรงและประเมินว่าจะจบลงด้วยดี นักลงทุนต่างชาติก็พร้อมกลับมาลงทุน ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับขึ้นทะลุ 800 จุดไปแล้ว สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจไทย และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
"ตลาดหุ้นไทยที่ปรับขึ้น ไม่ใช่เพราะรัฐบาล แต่มาจากหลายปัจจัย แต่รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาบรรยากาศเอื้อต่อการลงทุน" รมว.คลัง กล่าว
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลประกาศจะยุบสภาใน 9 เดือน หากมองในมิติด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลต้องเตรียมการในการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 54 โดยมีวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 2 ล้านล้านบาท มากกว่าปีงบประมาณ 53 ที่มีงบประมาณรายจ่ายที่ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งหากงบประมาณประจำปี 54 จัดทำไม่แล้วเสร็จตามกรอบเวลา จะกระทบกับการใช้จ่ายงบประมาณอย่างน้อย 6 เดือน หรือทำให้งบประมาณรายจ่ายหายไป 3 แสนล้านบาท และส่งผลกระทบต่อประชาชนจากหลายโครงการของรัฐบาล ทั้งโครงการประกันรายได้เกษตรกร โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งได้มีการจัดสรรงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 54 ที่รัฐบาลเตรียมเสนอ ครม.ในวันที่ 27 เม.ย.53
อีกทั้งรัฐบาลจะต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินในโครงการลงทุนไทยเข้มแข็ง