นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ. อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น (ILINK) ในฐานะประธานชมรม CEO mai เปิดเผยว่า ในวันนี้ ได้ขอเข้าพบ รมว.คลัง ผ่านนายศิโรตม์ เสตะพันธุ เลขานุการ รมว.คลัง เพื่อทวงถามความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อเสนอการขยายมาตรการให้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีนิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนใหม่ในตลาด mai จาก 30% เหลือ 20% ให้มีผลตลอดไป
ทั้งนี้ พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาด mai จำนวน 10 บริษัท ที่จะสิ้นสุดการได้รับสิทธิประโยชน์การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อกำหนดเดิม และต้องกลับไปเสียภาษีในอัตราปกติ 30% โดยมองว่าขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศเพิ่งฟื้นตัว ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอาจยังมีความผันผวนอย่างมากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นหาก บจ.จะต้องเสียภาษีในอัตราปกติ อาจส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อนักลงทุนเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทได้
และในระยะยาวอาจมี บจ.ขอถอนตัว เพราะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เนื่องจากการเป็น บจ.ต้องปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสุง และยังต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น และบริษัทในต่างประเทศ ซึ่งมีต้นทุนทั้งสิ้น
"ทางคุณศิโรตน์บอกมาว่าถ้ามองว่าการให้มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูด บจ.เข้ามา การพิจารณาจะให้เฉพาะ บจ.ที่จะเข้าใหม่ ส่วนของเก่าคงจะหมดไป ซึ่งผมคิดว่าคงเป็นความคิดของเลขาฯ ที่ รมว.คลังยังไม่ทราบ" นายสมบัติ กล่าว
ทั้งนี้ ทางชมรม CEO mai จะมีการประชุมหารือในเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 25 เม.ย.53
ด้านนายชัยวัฒน์ เครือชะเอม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูนิคไมนิ่ง เซอร์วิสเซส(UMS)กล่าวว่า การเรียกร้องขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะการที่มีบริษัทต่างๆ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนด้วย เพราะตลาด mai เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งต้องมีการแข่งขันในอนาคต จึงอยากให้รัฐบาลช่วยประคับประคองให้ธุรกิจแข็งแรง