บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) เตรียมเงินลงทุนสำหรับการพัฒนาโครงข่ายการให้บริการระบบ 3G ในเฟสแรกไว้แล้วประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท จากเงินสดในมือที่มีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หลังจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)มีแนวโน้มจะเปิดประมูลใบอนญาต 3G ภายในปีนี้
"เราไม่ต้องห่วงเรื่องเงินลงทุน เงินสดในมือเรามีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และถ้าปลายปีนี้ประมูลไลเซ่นส์ เราก็ตั้งงบไว้ปีหน้า ค่อยๆทยอยไป เฟสแรกตั้งไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท ใช้ประมาณ 3 ปี" นายวิเชียร เมหตระการ หัวหน้าคณะผู่บริหาร ADVANC กล่าว
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/53 น่าจะออกมาดีขึ้น ในทิศทางเดียวกับการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจ
สำหรับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีผลต่อ ADVANC นั้น นายสมประสงค์ บุญยะชัย รองประธานกรรมการ ADVANC กล่าวว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทมี 3 ประเด็นได้แก่ การจ่ายภาษีสรรพสามิต 10% และลดการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ บมจ.ทีโอที ซึ่งป็นเจ้าของสัญญาสัมปทานเหลือ 15% จาก 25%, ประเด็นที่ ทีโอทีลดอัตราส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์มือถือแบบพรีเพด และ ลดค่าโรมมิ่งก่อนหักส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอที
ขณะนี้ ทางทีโอที ได้ยื่นเรื่องประเด็นการเก็บภาษีสรรพสามิตให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าทีโอทีสามารถนำเงินคืนได้หรือไม่ โดยนับตั้งแต่มีการจ่ายภาษีสรรพสามิต บริษัทได้จ่ายไปแล้วประมาณ 1 พันล้านบาท โดยเป็นการจ่ายเหมือนกับผู้ให้บริการรายอื่นทั้ง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด แต่ขณะนี้ไม่จ่ายภาษีสรรพสามิตแล้ว หลังจากที่ครม.รัฐบาลสมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ มีมติยกเลิกการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว
ส่วนอีก 2 ประเด็น ยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
"บริษัทไม่เคยทำผิดกฎหมาย และไม่เคยทำนอกสิทธิ ในคำพิพากษาไม่มีชื่อเอไอเอส...ผมได้เดินทางไปพบผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 10 มีนาคมแจ้งให้ทราบแล้ว และได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวไปแล้วเช่นกัน" นายสมประสงค์ กล่าวต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันนี้
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ADVANC ได้แก่ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) 42.61% , SINGTEL Strategic Investment PTE.LTD 19.15%
ขณะที่ ตัวแทนฝ่ายกฎหมายของบริษัท กล่าวว่า ขณะนี้ ต้องรอผลพิสูจน์ว่าทีโอที เสียหายอะไร และเป็นจำนวนเท่าไร แต่ยืนยันว่าบริษัทดำเนินการตามสัญญา อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าอนุญาโตตุลาการน่าจะมีคำชี้ขาดในราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า หากผลออกมาว่าบริษัทผิด บริษัทก็จะอุทธรณ์เพื่อต่อสู้ในชั้นศาล โดยศาลที่จะดำเนินการต่อได้ที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขั้นตอนการดำเนินทั้งสองศาลจะใข้เวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่มีคำชี้ขาด
"เราจ่ายภายใต้กฎหมายสรรพสามิต ซึ่งเป็นไปตามมติครม.เมื่อกฎหมายเป็นอย่างนี้ จะบอกว่าเราผิดสํญญาได้อย่างไร" ต้วแทนฝ่ายกฎหมายกล่าว