นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) กล่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการเสนอให้ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นพิจารณางดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 52 เพื่อสร้างเสริมเงินกองทุนของธนาคารในปัจจุบันให้สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเก็บผลกำไรสำรองไว้เป็นเงินกองทุน
ประกอบกับ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นรายใหญ่จากกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งธนาคารธนชาต(TBANK)ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์(Tender Offer)จากผู้ถือหุ้นรายอื่นทุกรายในราคาเดียวกับที่ซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งราคาดังกล่าวได้รวมเงินปันผลที่สะท้อนจากผลประกอบการในปี 52 แล้ว จึงทำให้แม้ว่าธนาคารไม่มีการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานในปี 52 แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะได้ประโยชน์จากการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้
"ราคา Tender Offer เป็นราคาที่คิดรวมประมาณการปันผลแล้ว...โดย 29 เม.ย.จะมีการประชุมผู้ถือหุ้น เชื่อว่าธนาคารธนชาต น่าจะ Tender Offer ได้หมดในช่วงกลางปี"นายชัยวัฒน์ กล่าว
ทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วงต่อจากนี้ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า แต่ละธนาคารก็ยังคงดำเนินการตามแผนธุรกิจปกติของแต่ละธนาคารไปก่อน จากนั้นในครึ่งปีหลังคงจะมีการปรับแผนกับธนาคารธนชาตในการทำ Product ที่สอดคล้องกัน
"ตอนนี้ได้มีการตั้งกรรมการชั่วคราวขึ้นมาก่อน 1 ชุด ประกอบด้วย ผู้บริหารธนาคารธนชาต 6 และ จากตัวแทนธนาคาร นครหลวงไทย 7 จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม ก่อนจะควบรวมในปี 54"นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า หลังการควบรวมจะเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 5 มีสินทรัพย์ 8 แสนล้านบาท และมีจุดแข็งในเรื่องสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่จากธนาคารธนชาต และสินเชื่อรายย่อยจากธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งกัน ขณะที่ SCIB มีสาขา 422 สาขาและ TBANK มี 257 สาขา เชื่อว่ายังมีโอกาสในการปรับปรุงระบบได้อีก
สำหรับบริษัทในเครือ อาทิ บล.นครหลวงไทยและบล.ธนชาต มีแนวโน้มควบรวมกันแน่นอน เพื่อให้มีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น เพื่อรองรับการเปิดเสรีของธุรกิจหลักทรัพย์
ส่วน บมจ. ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) นั้น ก็คงต้องทำ Tender Offer ด้วยแต่เชื่อว่า การทำธุรกิจไม่ได้ซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากลูกค้าเป้าหมายเป็นคนละกลุ่มกัน โดย THANI เน้นสินเชื่อรถยนต์มือสอง