โบรกฯมองกำไรกลุ่มแบงก์ Q1/53 เติบโตดี จับตาการเมืองกระทบสินเชื่อ Q2/53

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 20, 2010 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ส่วนใหญ่มองผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/53 เติบโตได้แข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิรวมกว่า 23,000-23,300 ล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาส 1/52 และไตรมาส 4/52 จากยอดการปล่อยสินเชื่อที่เติบโตได้ต่อเนื่อง รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ดอกเบี้ยเติบโตได้ดี มีการตั้งสำรองหนี้ลดลง แต่ยังกังวลปัญหาการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 2/53

          โบรกเกอร์                  คำแนะนำ         หุ้น Top Picks
          บล.ฟิลลิป                  OVERWEIGHT       BAY,KBANK,TMB
          บล.กรุงศรีอยุธยา            OVERWEIGHT       BBL,SCB,KBANK
          บล.ดีบีเอสฯ                OVERWEIGHT       BBL,KBANK
          สถาบันวิจัยนครหลวงไทย        BULLISH               -
          บล.พัฒนสิน                  BULLISH         KBANK,SCB,BBL

นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)คาดว่า ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 7 แห่งในไตรมาส 1/53 จะมีกำไรสุทธิรวม 23,000 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 22% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 11.6% เมื่อเทียบไตรมาส 4/52

การปล่อยสินเชื่อของกลุ่มธนาคารยังเติบโตได้ดีในช่วงไตรมาสแรกของปี คาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 0.7% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน ประกอบกับ มีการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงจากไตรมาสก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมที่ดีขึ้น

"การปล่อยสินเชื่อของกลุ่มแบงก์ใหญ่ 7 แห่งยังโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือน ก.พ.ปล่อยสินเชื่อได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งไตรมาสนี้แบงก์มีการตั้งสำรองลดลง มีการลด cost ส่วนแบงก์เล็กที่เริ่มประกาศผลประกอบการทั้งทิสโก้และเกียรตินาคิน ถือว่าเติบโตได้ดีมาก ซึ่งทิสโก้มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ไม่น่ากังวล ส่วนธนาคารเกียรตินาคิน(KK)ไตรมาสนี้มีการขาย NPA ทำให้มีกำไรค่อนข้างดี"นางสาวศศิกร กล่าว

ส่วนไตรมาส 2/53 มองว่าแม้จะมีปัญหาการชุมนุมทางการเมือง แต่ยังไม่น่ากังวลที่จะกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร และการเกิด NPL เพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งมีการตั้งสำรองไว้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว อีกทั้ง ธนาคารได้มีการปรับกลยุทธด้านรายได้โดยเน้นรายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้น และลดรายได้จากดอกเบี้ย เพื่อลดผลประกอบหากสินเชื่อหดตัว และจะเห็นว่าแม้มีปัญหาการเมือง แต่ธนาคารแต่ละแห่งยังไม่มีการปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้

ทั้งนี้ มองว่าทั้งปี 53 การทำกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะเติบโตมากกว่า 10% ส่วนการปล่อยสินเชื่อคาดว่าจะเติบโตได้ 6-7% ให้น้ำหนัการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารเป็นระดับ OVERWEIGHT โดยหุ้นที่โดดเด่น ยังเป็น BAY KBANK และ TMB

ด้านนายธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/53 ค่อนข้างดีต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 23,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 9% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน

ระบบธนาคารพาณิชย์ ยังมีรายได้หลักจากรายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากต้นทุนด้านดอกเบี้ยที่ลดลง รวมถึง รายได้จากเงินปันผลกองทุนวายุภักษ์ และรายได้จากค่าธรรมเนียม ขณะที่การปล่อยสินเชื่อไตรมาส 1/53 ของระบบธนาคารพาณิชย์จะเติบโต 1.3% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน และเติบโต 3.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่ NPL ค่อนข้างทรงตัว

ภาพรวมในไตรมาส 1/53 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่มีความโดดเด่นของการปล่อยสินเชื่อและผลกำไร คือธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งคาดว่าสินเชื่อจะขยายตัว 5% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อภาครัฐ และ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซึ่งสินเชื่อเอสเอ็มอี ยังเติบโตได้ดี ส่วนธนาคารขนาดเล็กที่โดดเด่น คือ ธนาคารทิสโก้ และ ธนาคารเกียรตินาคิน (KK) ยอดปล่อยสินเชื่อเติบโตได้มากกว่าภาพรวมทั้งระบบ เนื่องจากเน้นสินเชื่อลูกค้ารายย่อย สินเชื่อเอสเอ็มอีได้มากกว่าสินเชื่อ Corporate

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในไตรมาส 2/53 มีความเป็นห่วงว่าการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคาร อาจได้รับผลกระทบระยะสั้นจากปัญหาการเมือง และอาจส่งผลต่อ NPL ด้วย โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มที่เกี่ยวโยงกับภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ที่จะมีปัญหาด้านสภาพคล่อง โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลาง และเล็ก

"การชุมนุมทางการเมืองเพิ่งจะเริ่มช่วงปลายไตรมาส 1 ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบ แต่ไตรมาส 2 น่าจะชัดเจน ซึ่งน่าเป็นห่วงที่จะกระทบสินเชื่อแบงก์และเอ็นพีแอล หากมีข่าวเชิงลบออกมา ซึ่งจะทยอยออกมาให้เห็นในช่วง 1-2 เดือนนี้ แต่เชื่อว่าแบงก์มีการกันเงินสำรองไว้ค่อนข้างมาก ดังนั้นข่าวที่ออกมาอาจจมีผลในเชิงจิตวิทยา" นายธนัท กล่าว

สำหรับปี 53 มองว่า การปล่อยสินเชื่อของในภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ น่าจะเติบโต 5.9% ส่วน NPL น่าจะทรงตัวใกล้เคียงปีก่อน ซึ่งมองว่า NPL ทั้งระบบไม่น่าจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่น่าจะลดลงเช่นกัน ทั้งหมดนี้คงต้องมีการประเมินผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศมากน้อยแค่ไหน ซี่งอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งคงต้องมีการทบทวนเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ด้วย

ในส่วนของ บล.กรุงศรีอยุธยา ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ KBANK

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส วิเคราะห์ว่า ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/53 คาดว่าจะเติบโตแข็งแกร่ง โดยประเมินกำไรสุทธิ 23,300 ล้านบาท เติบโต 22.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเติบโต 13.7% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน

คาดว่าสินเชื่อของกลุ่มจะขยายตัว 4.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หลักๆ มาจากสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่ม Corporate และ SMEs สินเชื่อที่พักอาศัย และสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) สูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 3.85% เพราะมีเงินปันผลรับจากกองทุนวายุภักษ์ 1 รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโต 6.7% จากไตรมาสก่อนหน้า

เนื่องจากไม่มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าในเงินลงทุน, ค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงขึ้น 3.7% จากไตรมาก่อน นำโดย KTB โดยเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายโบนัสพนักงาน และ KBANK ซึ่งมาจากการทำงบการเงินรวมของธนาคารกับ MTGH และคาดว่าจะมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 10,300 ล้านบาทในไตรมาส 1/53 จากไตรมาส 4/52 ที่ตั้งสำรอง 10,800 ล้านบาท จากความกังวลกับการด้อยค่าของคุณภาพสินทรัพย์น้อยลง

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) KBANK KTB และ TISCO จะมีกำไรสุทธิเติบโตแข็งแกร่ง ซึงมาจากสินเชื่อของทั้ง 4 ธนาคารที่ขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะ BAY และ KBANK มีการทำงบการเงินรวมกับกิจการที่ซื้อเข้ามาเมื่อปีก่อน ทำให้ NIM และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วน TISCO ได้รับประโยชน์จากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ

และแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งของสินเชื่อในไตรมาส 1/53 และโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่อง เป็นการยืนยันสมมติฐานการขยายตัวของสินเชื่อทั้งปี 53 ของกลุ่มธนาคาร จะเติบโต 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยหนุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ของรัฐบาล และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น

ด้าน NIM คาดว่าจะสูงขึ้น 0.28% รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 15% และตั้งสำรองค่าเผื่อฯ 0.80% ของสินเชื่อรวม และประมาณการว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเติบโตสูงถึง 22% ในปีนี้ ยังผลให้ ROE จะดีขึ้นเป็น 13.2% ในปี 53 จาก 12.0% ในปี 52

บล.ดีบีเอสฯ ให้ BBL และ KBANK เป็นหุ้น Top Picks โดย KBANK มีคุณภาพสินทรัพย์ดีมาก มี NPL Ratio ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม และรายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัวสูงที่สุดในกลุ่ม ส่วน BBL มีงบดุลที่แข็งแรง สำรองค่าเผื่อฯสะสมต่อ NPL สูงสุด และมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง เพียงพอที่จะขยายธุรกิจไปในอีก 3 ปีข้างหน้าโดยไม่ต้องเพิ่มทุน

ขณะที่ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินว่า การปล่อยสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 53 มีโอกาสที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้บริหารของธนาคารส่วนใหญ่คาดหวังไว้ โดยการให้สินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่(Corporate)น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดและมีโอกาสที่จะถูกปรับลดเป้าหมายจากผลกระทบทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งทำให้ธนาคารน่าจะกลับมาใช้เกณฑ์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการเกิด NPL โดยธนาคารที่วางเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ Corporate สูงที่สุดได้แก่ TMB 20% และ KBANK 8-10%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ