นายไพบูลย์ เฉลิมทรัพยากร ประธานกรรมการ บมจ.ยูนิมิต เอนจิเนียริ่ง(UEC)คาดรายได้ใกล้เคียงปี 52 ที่ทำได้ 1,370 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิยังประเมินได้ยาก เพราะยังมีความไม่แน่นอน โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลการยื่นประมูลงานในปีนี้
ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นประมูลงานทั้งในและต่างประเทศมูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท แยกเป็นงานต่างประเทศ 70% ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง เวียดนาม ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ด้านงานในประเทศ 30% ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
ปัจจุบัน มีงานในมือ(backlog)จำนวน 300-400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 52 ที่มี backlog จำนวน 200 ล้านบาท แต่ในปี 54 บริษัทมีเป้าหมายเพิ่ม backlog เป็น 1,800 ล้านบาท เท่ากับเมื่อปี 51
บริษัทมีแผนขยายงานในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสในการขยายธุรกิจมากกว่า หลังจากตลาดในประเทศมีข้อจำกัด เช่น ธุรกิจโรงกลั่นคงเกิดขึ้นได้ยากขึ้น ซึ่งหากธุรกิจพลังงานในประเทศชะลอตัวจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทด้วย ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีงานในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30%
อย่างไรก็ตาม การประมูลงานในต่างประเทศอาจมีมาร์จิ้นลดลง หลังจากถูกกดดันจากการแข่งขันกับคู่แข่งต่างประเทศ และอาจมีผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ลดลงจากปี 52 อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 26-27%
"ตอนนี้เข้าสู่ตลาดใหญ่ มาร์จิ้นคงถูกกดดันแน่ เพราะเข้าสู่การแข่งขันระดับอินเตอร์ ฯ เช่นเกาหลีใต้ อินเดีย และอาจทำให้อัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ ลดลง จากการที่ก่อนหน้านี้บริษัทขยายโรงงาน ทำให้มี overhead มาก ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิต ทำให้ gross margin ปีนี้ถูกกดดดันมาก จากปี 52 อยู่ที่ 26-27% แต่ปีนี้จะต่ำกว่าหรือไม่ ขึ้นกับการได้งานประมูลด้วย" นายไพบูลย์ กล่าว
ส่วนกรณีการระงับโครงการลงทุนในมาบตาพุด ที่บริษัทได้มีการยื่นประมูลในโครงการลงทุนใหม่ๆ จากบริษัทที่ถูกระงับการลงทุนในหลายโครงการ ยอมรับว่าอาจกระทบต่อการทำรายได้ของบริษัทในปีนี้ด้วย
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทยังไม่มีแผนเพิ่มทุน รวมถึงการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ(วอร์แรนต์)หรือเสนอขายหุ้นกู้ แม้บริษัทจะอยู่ระหว่างการประมูลงานมูลค่าสูงถึง 6,000 ล้านบาท แต่กว่าที่ผลการประมูลงานจะออกมาก็ต้องใช้เวลา 3-4 เดือน และงานส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องทยอยดำเนินการ อีกทั้งบริษัทยังมีกระแสเงินสด 328 ล้านบาทน่าจะเพียงพอในการบริหารจัดการได้
สำหรับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในไทย และย้ายไปลงทุนในประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่า
นายไพบูลย์ กล่าวในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน UEC ว่า ขณะนี้ยังไม่แนวคิดขายหุ้น UEC ที่ถืออยู่ แต่จะพยายามดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าไปได้ด้วยดีก่อน แต่ยอมรับว่าทุกอย่างสามารถเกิดขึ้น
"ในเรื่องธุรกิจทุกอย่างเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับราคา ที่ผ่านมาได้ขายหุ้นยูนิคแก๊ส และ UMS เพราะผมอายุ 70 ปีกว่าแล้ว ก็อยากขายออกไป" นายไพบูลย์ กล่าว