บมจ.ช.การช่าง(CK)คาดว่าในปี 53 บริษัทจะทำรายได้ใกล้เคียงปีก่อนที่ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมว่ารายได้จะเติบโตราว 20% เนื่องจากการเซ็นสัญญางานหลายโครงการล่าช้าออกไป แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในด้านกำไรสุทธิน่าจะดีขึ้นจากปีก่อน เพราะอัตรากำไรขั้นต้นของงานใน backlog ใหม่สูงขึ้นมาที่ 10%
สำหรับงานสำคัญในปีนี้ คือ โครงการไซยะบุรีในประเทศลาว คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างภายในปีนี้หลังจากการศึกษาโครงการแล้วเสร็จ โดยขณะนี้มีผู้สนใจเข้ามาร่วมทุนด้วยหลายรายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH)และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO)ที่สนใจเข้าร่วมทุนในส่วนของโรงไฟฟ้าด้วย คาดว่าจะมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 5 ราย โดย CK จะถือหุ้น 30% และรัฐบาลลาวถืออีกส่วนหนึ่ง
บริษัทยังมองแนวโน้มการนำบริษัท South East Asia Energy (SEAN) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการน้ำงึม 2 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย น่าจะดำเนินการได้ในปี 54 หลังจากสามารถจ่ายไฟฟ้าได้เร็วกว่ากำหนด 3 เดือน หรือภายใน ธ.ค.53 จึงมีรายได้เข้ามาได้เร็วขึ้น คาดว่าจะมีรายได้ปีละ 4.4 พันล้านาท ซึ่ง CK ก็จะบันทึกรายได้ตามสัดส่วนหุ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/54
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ CK กล่าวว่า รายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 1 จะเข้ามาในไตรมาส 2-4/53 ล่าช้าออกมาจากไตรมาส 1/53 ขณะที่บริษัทคาดว่าจะมีงานใหม่เข้ามา 2-3 หมื่นล้านบาทในปีนี้ โดยจะเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินด้วยตัวเองทั้ง 5 สัญญา และ รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงลบางซื่อ-รังสิต นอกจากนั้น ยังมีงานของกรมชลประทานและกรมทางหลวง รวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ที่บางปะอิน
แม้จะมีปัญหาเรื่องการเมือง แต่งานประมูลก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อย่างรถไฟฟ้าก็ได้เดินหน้าไปบ้างแล้ว ทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีแดง และงบประมาณไทยเข้มแข็งบางส่วนก็ได้ออกมาแล้ว แม้อาจมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็คงจะต้องมีการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ถึงจะล่าช้าไปบ้าง
ขณะที่โครงการไซยะบุรี ขณะนี้ได้แต่งตั้ง 4 ธนาคารจัดทำแผนเงินกู้คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 6 เดือน โครงการทั้งหมดมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท มาจากเงินกู้ 8 หมื่นล้านบาท ที่เหลือมาจากเงินทุนของบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ซึ่งการเซ็นสัญญางานก่อสร้าง 7-8 หมื่นล้านบาทจะดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ขณะนี้รอการเซ็น MOU การซื้อขายไฟฟ้าภายใต้อายุสัมปทาน 29 ปี
อนึ่ง โรงไฟฟ้าไซยะบุรี มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,280 เมกะวัตต์
"หากปลายปีนี้ได้งานไซยะบุรี 7-8 หมื่นล้านบาทเข้ามา backlog ที่มีอยู่ 2 หมื่นล้านบาทก็จะทำให้ 3 ปีข้างหน้าของเรายังดูดี"นายปลิว กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางปรับรายได้ของบริษัทมาเป็นรายได้จากสัญญาสัมปทานในระยะยาว ก็จะทำให้รายได้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ไม่ได้ประมาณการว่าควรจะมีสัดส่วนเท่าใด
ส่วนโครงการน้ำบาก 1-2 ที่ชะลอไป เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวสูงกว่าโครงการไซยะบุรี ขณะนี้รอการเจรจาซื้อขายไฟฟ้า หากได้ราคาสูงขึ้นก็น่าจะสามารถดำเนินการโครงการได้ อาจจะเป็นภายในปีนี้ก็ได้