บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF)เปิดเผยว่า ยอดขายของบริษัทในช่วงไตรมาส 1/53 ดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/52 หลังจากบริษัทปรับกลยุทธทางธุรกิจด้วยการหันมาเน้นสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งการส่งออกขยายตัวได้ดี
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าวว่า ยอดขายในไตรมาส 1/53 ที่ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับดีไม่ต่ำกว่า 25% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นของเนื้อสัตว์ เมื่อปี 52 อยู่ที่ 14-15% โดยอัตรากำไรมีความผันผวนตามดีมานด์-ซัพพลาย
นอกจากนี้ การส่งออกยังขยายตัวได้ดี และคาดว่าดีต่อเนื่องในไตรมาสต่อ ๆ ไป
ส่วนไตรมาส 2/53 เชื่อว่ายอดขายของบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง เพราะไม่ว่าเสื้อสีใดก็ต้องรับประทานอาหาร ขณะที่การปิดน่านฟ้ายุโรปจากกรณีเถ้าภูเขาไฟในไอซ์แลนด์นั้น ก็ไม่ได้กระทบกับการส่งสินค้าของบริษัทเช่นกัน เนื่องจากปกติใช้เส้นทางเรือเป็นหลัก
"การเมืองไม่กระทบ เราโชคดีที่อยู่ในธุรกิจอาหาร ม็อบสีไหนก็ต้องกิน" นายอดิเรก กล่าว
สำหรับผลประกอบการปี 53 นายอดิเรก กล่าวอีกว่า บริษัทยังมั่นใจว่ากำไรสุทธิดีกว่าปี 52 ที่มีกำไรสุทธิ 1.02 หมื่นล้านบาท และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ใกล้เคียง หรือสูงกว่าปี 52 ที่อยู่ระดับ 17.7% และยังคงเป้าหมายยอดขายเติบโตไม่ต่ำกว่า 10%
"โดยภาพรวมธุรกิจบริษัทปีนี้ดีกว่าปีก่อน และเราเชื่อว่ายังมีปันผล ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไร ให้ผู้ถือหุ้น" นายอดิเรก กล่าว
สำหรับแผนการลงทุนของบริษัท ได้วางกลยุทธการดำเนินธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า โดยเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารสำเร็จรูปเป็น 30% เพื่อสร้างความยั่งยืนของผลกำไรและรายได้ และจะขยายธุรกิจสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้ง ซึ่งมีจุดเด่น ที่มีการพัฒนาพันธุ์ลูกกุ้ง ที่แข็งแรง โตไว้ ไว้เวลาเลี้ยงสั้นลง ขณะนี้ได้ขยายธุรกิจไปที่ประเทศอินเดีย
และในปีนี้บริษัทได้ตั้งงบลงทุน 6 พันล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในต่างประเทศ 3 พันล้านบาทที่ประเทศรัสเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และตุรกี ซึ่งประเทศตุรกีเป็นการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจไก่แปรรูป เริ่มการผลิตได้ในปลายเดือน เม.ย.นี้ มีกำลังการผลิต 400-500 ตัน/เดือน ส่วนเงินลงทุนอีก 3 พันล้านบาทเป็นการลงทุนในประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในธุรกิจอาหารสำเร็จรูปและธุรกิจแปรรูป
ด้านนายธีรศักดิ์ อุรุนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร CPF กล่าวว่า ในปี 53 คาดว่าจะมีปริมาณไก่ส่งออกเพิ่มขึ้น 8-10% เป็น90,000 ตัน เนื่องจากความต้องการในทั่วโลกเริ่มกลับมาดีขึ้น จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดยุโรปและญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ไตรมาส 1/53 คาดว่า ยอดส่งออกไก่จะเติบโต 5-8% โดยตลาดยุโรปพบว่าทางผู้ประกอบการได้พยายามขอขยายโควต้า จากปัจจุบันมีการส่งออกเต็มโควต้าที่ 1.6 แสนตัน/ปีมาแล้ว 2 ปี คาดว่าภายในเดือน เม.ย.ทางเทรดเดอร์ของยุโปรน่าจะมีความชัดเจนเรื่องนี้ได้ ซึ่งคงมีการเจรจากันในระดับประเทศด้วย
ส่วนการส่งออกไก่สดแช่แข็งไปตลาดญี่ปุ่น มีแนวโน้มเป็นไปได้ หลังจากที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาตรวจสอบโรงงานในไทย และผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว แต่ยังกังวลว่าอาจมีปัญหาเรื่องการระบาดของโรคไข้หวัดนกกลับมา อาจจะเป็นปัญหากระทบในวงกว้างของธุรกิจไก่ในประเทศได้ อย่างไรก็ตามตลาดญี่ปุ่นยังมีความต้องการไก่สดแช่แข็งจำนวนมาก
ปัจจุบัน ราคาไก่เป็นในประเทศ อยู่ที่ 40 บาท/กก.จากราคาต้นทุนอยู่ที่ 31-32 บาท/กก.ปรับสูงขึ้นตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ แต่บริษัทได้มีการสต็อควัตถุดิบ เช่น สต็อกถั่วเหลืองจนถึง ก.ค.53 และจะรอผลผลิตรอบใหม่ที่จะออกมาในช่วง ก.ย.-ต.ค.53 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบไม่สูงเกินไป