PDIทำสัญญาสิทธิการทำเหมืองในพม่าใกล้แม่สอด คาดเริ่มผลิตปี 53

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 26, 2010 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอังเดร์ วัน แดร์ เอเดน กรรมการผู้จัดการ บมจ.ผาแดงอินดัทรี (PDI) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ขณะนี้บริษัทเดินหน้าหาเหมืองแห่งใหม่ที่จะมาทดแทนเหมืองปัจจุบันที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งใกล้จะสิ้นสุดอายุการทำเหมืองในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยล่าสุดบรัษัทได้ทำสัญญาสิทธิการทำเหมืองกับผู้ถือสัมปทานในประเทศพม่า ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ อ.แม่สอด คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตได้ในปี 53

"สิ่งที่สำคัญที่สุดของบริษัทฯคือการสำรวจแร่ เนื่องจากขณะนี้บริษัทกำลังเตรียมการปิดเหมืองแม่สอดเมื่อสิ้นสุดอายุของเหมืองในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้จึงได้มุ่งหาแหล่งวัตถุดิบใหม่มาทดแทน ซึ่งแหล่งแร่ที่มีศักยภาพในปัจจุบันอยู่ที่จ.ลำพูน แต่การพัฒนายังต้องใช้เวลาอีกนานและไม่สามารถทดแทนเหมืองแม่สอดได้ทัน บริษัทจึงต้องเร่งหาโครงการที่สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาอันใกล้"นายอังเดร์ กล่าว

สำหรับแผนงานระยะกลางและระยะยาวที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก คือ การสำรวจแร่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งได้เริ่มขึ้นแล้วจะเป็นแผนงานหลักและสำคัญที่สุดของบริษัทในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า จึงได้มุ่งการสำรวจแร่ลงในพื้นที่นี้เพื่อให้เกิดผล

โครงการสำรวจแร่พื้นที่กาสี สปป.ลาว ในปี 52 ได้ดำเนินการสำรวจแร่ในพื้นที่ทั้งหมด พบศักยภาพของแร่สังกะสี ซึ่งจากการเจาะสำรวจในขั้นต้นพบว่ามีความน่าสนใจและมีแนวโน้มศักยภาพสูงที่จะพบแร่สังกะสีปริมาณ 1 ล้านตัน โดยจะมีการเร่งเจาะสำรวจและทดสอบเพิ่มเติ่มในรายละเอียดต่อไป

นอกจากนี้ การสำรวจแร่สังกะสีพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยก็ยังมุ่งทำโดยในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเจาะสำรวจพื้นที่จังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับคำปรึกษาจากที่ปรึกษาด้านการสำรวจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆ ก่อนที่ใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจในบางพื้นที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมิ.ย.53 นี้

ทั้งนี้ โครงการใน จ.ลำพูนได้มีการเจาะสำรวจเพิ่มเติม คาดว่าจะมีปริมาณสำรองแร่สังกะสีซัลไฟด์ประมาณ 2.1 ล้านตัน ส่วนโครงการจ.เลยจากการสำรวจพบศักยภาพของแร่ทองคำ

ณ วันที่ 31 ธ.ค.52 เหมืองผาแดงมีปริมาณแร่สำรองชนิดสังกะสีซิลิเกตและคาร์บอเนตรวมทั้งกองแร่ที่ผลิตไว้แล้วเป็นจำนวน 2.86 ล้านตัน

ส่วนโครงการร่วมทุนผลิตเอทานอน ในบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ได้ดำเนินการผลิตเต็มปี บริษัทในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งได้สนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่บริเวณรอบเหมืองให้ปรับเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกข้าวมาสู่การปลูกอ้อยสำหรับเอทานอล ปัจจุบันมีผลผลิตอ้อยป้อนเข้ามาประมาณ 4 แสนตัน/ปี ขณะที่กำลังการผลิตสามารถรองรับผลผลิตได้กว่า 6 แสนตัน/ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ