บลจ.บัวหลวง เปิดขาย 2 กองทุนรวม ETF เพื่อลงทุนในทองคำแท่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 28, 2010 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง เปิดเผยว่า บริษัทและธนาคารกรุงเทพ(BBL)เตรียมเสนอขาย IPO กองทุนใหม่ 2 กองทุน ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อลงทุนในต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในทองคำแท่ง ในระหว่างวันที่ 6-17 พ.ค.53

ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์ฟันด์(BGOLD) กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ และเป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนที่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) โดยเป็นกองทุนทั่วไปที่สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ และ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ (BGOLDRMF) เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนในระยะยาวและได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม

สำหรับกองทุนทองคำ เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศ ชื่อ “SPDR Gold Trust" โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ทั้งนี้ SPDR Gold Trust เป็นกองทุนที่ลงทุนในทองคำแท่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ประมาณ 4.02 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 17 มี.ค.53) ซึ่งมีนโยบายมุ่งเน้นการลงทุนในทองคำแท่งจริงๆ โดยเป็นทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ขั้นต่ำ 99.5% ตามมาตรฐานสากล ในขณะที่ทองคำในประเทศไทยมีค่าความบริสุทธิ์ที่ต่ำกว่า คืออยู่ที่ระดับ 96.5%

กองทุน SPDR Gold Trust จัดตั้งและจัดการโดย World Gold Trust Services, LLC ถือหุ้นทั้งหมดโดย World Gold Council (WGC) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ส่วนกองทุน SPDR Gold Trust จัดเป็นกองทุนประเภทอีทีเอฟ ซึ่งนำหน่วยลงทุนไปจดทะเบียนให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทจะดำเนินการซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ กองทุนดังกล่าวจะไม่มีการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ เน้นการสร้างผลตอบแทนของกองทุนหลังหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดการทั้งหมดของกองทุน ให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำแท่งในตลาดลอนดอน คือ London Gold PM Fix Price ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แต่สะดวกสบายมากกว่า เพราะผู้ลงทุนไม่ต้องเก็บรักษาทองคำแท่งด้วยตนเอง เนื่องจากกองทุน SPDR Gold Trust มีผู้เก็บรักษาทองคำแท่งให้ ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ สหรัฐอเมริกา (HSBC Bank USA, N.A.)

นางวรวรรณ กล่าวว่า ประโยชน์ของการลงทุนในทองคำเช่น โอกาสสร้างผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ (Price Appreciation) เนื่องจากทองคำเป็นโลหะมีค่าที่คนนิยมลงทุนมากที่สุด และเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ อาทิ ต้นทุนการผลิตทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น ความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากภาคการผลิตและภาคการเงิน ทำให้คาดการณ์ว่าราคาทองคำมีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นๆ จะมีความผันผวนของราคาก็ตาม รวมถึงการรักษาระดับความมั่งคั่ง (Wealth Preservation) เพราะทองคำสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ ในยามที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาทองคำมักจะขยับขึ้นด้วย ทำให้รักษาอำนาจการซื้อในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ทองคำเหมาะสำหรับใช้ลงทุนเพื่อกระจายการลงทุนลดความเสี่ยง เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำ มักจะไม่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับการลงทุนในหุ้น และสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่นๆ จึงเหมาะแก่การนำทองคำมาเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์เพื่อการลงทุนในพอร์ต ดังนั้น ผู้ที่คาดหวังผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ ผู้ที่ต้องการรักษาความมั่งคั่งและอำนาจซื้อจากอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว ผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังทองคำนอกเหนือจากตราสารหนี้และตราสารทุน และไม่ต้องการใช้เงินมากนักในการลงทุนทองคำ จึงเหมาะสมที่จะลงทุนในกองทุนดังกล่าว" นางวรวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การลงทุนทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยงเกิดขึ้น เช่นเดียวกับกองทุนทองคำ ก็มีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของราคาทองคำในตลาดโลก ราคาตลาดของหน่วยลงทุนในตลาดสิงคโปร์ที่กองทุนของบลจ.บัวหลวงไปลงทุน อาจจะไม่เท่ากับราคา NAV ของกองทุนหลัก รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากในสภาวะปกติกองทุน จะไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนทั้งสองมีความสอดคล้องกับราคาทองคำในประเทศมากที่สุด เพราะราคาทองคำในประเทศไทย อ้างอิงจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับด้วยค่าความบริสุทธิ์ของทองคำและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนอาจทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หากเห็นว่าเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนในระยะยาว จากปัจจัยเรื่องทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ