นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.ธนายง(TYONG)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันนี้ มีมติอนุมัติให้การเสนอราคาขายหุ้นเพิ่มทุนที่ 0.63 บาท/หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 7 หุ้นเดิม ต่อ 4 หุ้นใหม่ ช่วงวันที่ 27 พ.ค.-7 มิ.ย.53 คาดว่าจะได้รับเงินจากการเพิ่มทุนจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท จากหุ้นที่เสนอขายจำนวน 20,445.4 ล้านหุ้น
นอกจากนี้ ผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิโดยไม่คิดมูลค่า ใบสำคัญแสดงสิทธิมีอายุ 3 ปี สามารถเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกเมื่อครบ 2 ปีนับจากวันที่ออก กำหนดราคาใช้สิทธิ 0.70 บาท/หุ้น
และ หลังการประชุมผู้ถือหุ้นที่อนุมัติการเข้าซื้อหุ้น บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTSC) บริษัทจะดำเนินการซื้อหุ้นสามัญของ BTSC คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 4 พ.ค.53 และหลังจากนั้นจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ใช้ชื่อย่อใหม่ในการซื้อขายหลักทรัพย์เป็น"BTS"และจะย้ายหมวดขนส่ง ลอจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ ในวันที่ 10 พ.ค.เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างรายได้ใหม่ของบริษัทที่ส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้า
บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จะมีโครงสร้างรายได้จาก 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันให้บริการเส้นทางสุขุมวิท และสีลม ระยะทาง 26 ก.ม.และ 15 พ.ค.ได้รับจ้างเดินรถและบริหารสถานีบีอาร์ที ระยะทาง 15 ก.ม. เป็นเวลา 7 ปี มีรายได้กว่า 1.4 พันล้านบาท และคาดว่ากลางปี 54 จะเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เพิ่มอีก 12 ก.ม.
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ชื่อ บีทีเอส แอสเซท จะเป็นผู้ดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งปัจจุบันมี 6 โครงการ แบ่งเป็น โครงการโรงแรม 3 แห่ง คือ โรงแรมโฟร์พอยช์ ที่สถานีสุรศักดิ์ คาดว่าเปิดดำเนินการกลางปี 54 โรงแรม The Langham ระดับ 5 ดาว ใกล้สถานีนานา และโรงแรม The Langham Place สถานีพญาไท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติการก่อสร้าง ส่วนโครงการคอนโดมิเนียมมี 3 แห่ง คือ พหลโยธิน หมอชิต และสุขุมวิท 36 จะเปิดโครงการอย่างเป็นทางการวันที่ 12 พ.ค.53
ธุรกิจโฆษณา ภายใต้ชื่อ VGI Globle Media และ ธุรกิจการให้บริการอำนวยความสะดวก ได้แก่ การให้บริการตั๋วร่วม
"รายได้บีทีเอส จะเติบโตเร็วกว่าอสังหาฯ แต่รายได้อสังหาฯคิดว่าจะไล่ทัน" นายคีรี กล่าว
สำหรับโครงสร้างรายได้ จะมาจาก การบริการรถไฟฟ้าบีทีเอส 60% อสังหาริมทรัพย์ 20% ธุรกิจโฆษณาและอื่น ๆ 20%